ไขคำตอบ สุรา ไม่ใช่สินค้าธรรมดา
ปัญหาแอลกอฮอล์นั้นสำคัญระดับโลก แต่ละประเทศต่างต้องหามาตรการ แนวคิดยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบายให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดเพื่อแก้ปัญหา สุรา ...สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) พร้อมภาคีเครือข่าย จัดเวทีสัมมนาวิชาการ เปิดตัวหนังสือ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” โฉมใหม่ที่เพิ่มเรื่องภาษีและการตลาดออนไลน์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวถึงปัญหาของ สุรา ในสังคมไทยว่า สุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาสำคัญลำดับต้น ๆ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ส่งผลต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังกระทบไปทั่วโลก จึงต้องมุ่งเน้นการให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคม และยังพบว่า มีความพยายามเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เรื่องสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพื่อสร้างค่านิยม ส่งเสริมให้คนดื่มสุรามากขึ้น เจตนาทำให้คนมองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติทั่วไป ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ปี 2564 ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 165,450 ล้านบาท ส่วนปัญหาด้านสุขภาพก็มีผลเช่นกัน สุราทำให้ประชาชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา แต่เป็นสินค้าที่สร้างความสูญเสียให้กับประเทศ
นพ.สุรเชษฐ์ ยังกล่าวถึงบทบาทของ สสส.ต่อการให้ความสำคัญของนโยบายแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาวะคนไทย ว่า สสส.ได้สานพลังภาคีเครือข่าย เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมเห็นถึงอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 ข้อ 1.พัฒนาและผลักดันนโยบายสาธารณะ สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย 2.พัฒนาฐานข้อมูลเชิงวิชาการและจัดการความรู้ 3.พัฒนาต้นแบบนวัตกรรม/การทำงานใหม่ ด้วยวิธีการรณรงค์ผ่านไปยังช่องทางต่าง ๆ โดยหนังสือสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา ฉบับภาษาไทย จะเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้ทุกคนรู้เท่าทันการตลาด เบื้องหลังมีพิษภัยจากเครื่องดื่มชนิดนี้ ให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ
ภายในงาน Professor Sally Casswell หนึ่งในผู้นิพนธ์หนังสือ “สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา” ฉบับภาษาอังกฤษ กล่าวเสริมว่า หนังสือสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นหลักฐานสำคัญว่า สุรา เป็นสิ่งที่อันตราย นโยบายแอลกอฮอล์เกือบทั้งหมด มุ่งเน้นไปที่การควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพ ราคา โฆษณาและการตลาด รวมถึงควบคุมการดื่มแล้วขับ ซึ่งนโยบายเหล่านี้สามารถทำได้บนฐานความแตกต่างตามบริบทวัฒนธรรม โครงสร้างสังคม ทั้งนี้ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงผู้สนับสนุนนโยบาย จำเป็นต้องมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับนโยบายแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยสนับสนุนรัฐบาล เพราะรัฐต้องปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน ซึ่งประเทศไทยนั้นทำได้ดี ทั้งการต่อต้านแรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรม สุรา ให้ประชาชนเลือกสิ่งที่เหมาะสมเอง รวมทั้งมีการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้าน ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผอ.แผนงาน ศวส. ระบุว่า หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายนโยบาย มี 5 ส่วน 1.ทำไมสุราจึงไม่ควรจัดให้เป็นสินค้าธรรมดา 2.พัฒนาการของธุรกิจแอลกอฮอล์ 3.ทบทวนหลักฐานสนับสนุนแนวทางนโยบายแอลกอฮอล์ 7 รูปแบบ ได้แก่ มาตรการกำหนดราคาและภาษี, การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การจำกัดกิจกรรมการตลาด, ยุทธศาสตร์ด้านการให้ความรู้และการโน้มน้าวใจ, มาตรการด้านการดื่มแล้วขับ, การเปลี่ยนบริบทของการดื่ม, การบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรก (early intervention) 4.ปัญหาท้าทายของการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ 5.ด้านมืดและด้านสว่างของนโยบายแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ สำหรับหนังสือเล่มนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 3 เพราะภาระโรคของแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตและทุพพลภาพทั่วโลก ด้านธุรกิจแอลกอฮอล์ก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบใหม่ เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ในโลก จึงต้องประเมินว่า ธุรกิจแอลกอฮอล์ทำหน้าที่เป็นตัวชักจูงให้เกิดปัญหา สุรา มากน้อยอย่างไร อีกทั้งวิธีการศึกษานโยบายแอลกอฮอล์ได้พัฒนาขึ้นมาก พบหลักฐานวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลให้ผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ได้ คณะผู้แปลหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะช่วยเรื่องการวางนโยบายให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับบริบทในสังคมไทย
นโยบายควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพและการตลาด
รศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มาตรการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพส่งผลอย่างมาก การจำกัดการเข้าถึง สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยลดปัญหาสุขภาพจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทีละน้อย การจำกัดนี้ยังใช้ร่วมกับมาตรการอื่นได้ด้วย และส่งผลต่อสุขภาพได้
ในด้านการตลาด ปัจจุบันมีแคมเปญการตลาดแบบบูรณาการโดยใช้สื่อดิจิทัล มีการขยายตัวข้ามพรมแดน ล้วงลึกลงไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแยบยล ใช้ฐานข้อมูลลูกค้าขับเคลื่อนการตลาด หากมีการควบคุมการเข้าถึงการตลาดได้ จะช่วยลดปริมาณผู้บริโภคแอลกอฮอล์ได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นโยบายป้องกันและลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่สำคัญของอุตสาหกรรม สุรา ได้แก่ การโฆษณาส่งเสริมการขาย ทำให้คนรู้สึกว่า สุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยสร้างความสุข เพลิดเพลิน สมองของผู้รับภาพจะประมวลผลเป็นเชิงบวก มีการสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกต่อสังคม ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ และการผลักความรับผิดชอบไปสู่ผู้บริโภคว่า บริโภคไม่เหมาะสมจึงเกิดผลกระทบแง่ลบ จึงต้องมีกลยุทธ์แก้ เสริมความรู้ ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่ามีด้านลบอย่างไรต่อร่างกาย ทั้งการสร้างสื่อให้ความรู้ มีป้ายและฉลากคำเตือนที่ผลิตภัณฑ์ ให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย ครอบครัว ชุมชน ประกอบกับการผลักดันเชิงนโยบายร่วมด้วย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่แล้วคนก็ใช้เป็นตัวช่วยในการเข้าสังคม ทั้งที่ก่อให้เกิดพิษภัยต่อร่างกาย สังคม จิตใจ ถือเป็นบทบาทที่ขัดแย้ง แง่หนึ่งเป็นสินค้า อีกแง่หนึ่งเป็นสารเสพติด หากศึกษาให้ดีจะรู้ได้ทันทีว่า สุรา ไม่ใช่สินค้าธรรมดา จึงไม่ควรมีการซื้อขายแบบเดียวกับสินค้าอื่นในตลาด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เตือนผู้ติดสุราเรื้อรัง “หงุดหงิด มือสั่น ปวดหัว” รีบพบแพทย์กินยาทดแทนฤทธิ์เหล้า
คำสารภาพจากนักดื่ม "ดื่มเหล้าเข้าสังคม" ค่านิยมฉุดชีวิตติดลบ
ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 389 views