ตามที่มีบทความแนะนำเกี่ยวกับประเด็นเรื่องดื่มน้ำต้มตะไคร้ มะตูมแห้งและเกสรบัวหลวงก่อนนอนช่วยความจำดี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีบทความแนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรโบราณ ประกอบด้วยวัตถุดิบหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ต้นตะไคร้ มะตูมแห้งและเกสรบัวหลวง เพียง 1 แก้ว ก่อนนอน จะช่วยให้ความจำดีขึ้นนั้น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่พบหรือระบุว่าทั้ง 3 ชนิด จะมีสรรพคุณช่วยให้ความจำดีขึ้นหรือแก้อัลไซเมอร์ได้ แต่สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด มีสรรพคุณด้านอื่นที่ดีต่อร่างกาย และแตกต่างกัน ดังนี้ 1.ต้นตะไคร้ ช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด 2.ผลมะตูม แก้ท้องเดิน ท้องเสีย ท้องร่วง โรคลำไส้เรื้อรังในเด็ก และ 3.เกสรบัวหลวง ช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น แก้ไข้ ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ
ทั้งนี้ อาหารป้องกันอัลไซเมอร์ กรมอนามัย แนะนำการเลือกบริโภคอาหารให้เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมได้ โดยลูกหลานหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุควรใส่ใจดูแล ดังนี้ กินผักให้มากเน้นที่ผักใบเขียว เช่น กวางตุ้ง ตำลึง ผักบุ้ง บลอกโคลี่ ผักโขม คะน้า อย่างน้อย 6 ทัพพีต่อสัปดาห์ และผักอื่น ๆ เช่น ผักกาด แครอท มะเขือเทศ พริกหวาน แตงกวา อย่างน้อย 1 ทัพพีต่อวัน กินผลไม้เป็นประจำ โดยเน้นผลไม้ สีแดง สีม่วง เช่น มะม่วงหาวมะนาวโห่ สตรอเบอร์รี กินธัญพืชไม่ขัดสี โฮลเกรน ข้าวกล้อง ลูกเดือยกล้อง ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต กินถั่วเปลือกแข็ และถั่วเมล็ดแห้ง เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว กินโปรตีนจากปลา และสัตว์ปีก ใช้น้ำมันดี เช่น น้ำมันมะกอก หรือ น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา สำหรับอาหารที่ผู้สูงอายุควรควบคุม ได้แก่ กลุ่มเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ควรกินให้น้อยกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เนยและมาการีน น้อยกว่า 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน ชีสต่าง ๆ ไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ขนมอบ พาย เบเกอรี่ น้อยกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ และ อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หากปฏิบัติได้ตามนี้จะส่งดีต่อสมองและสุขภาพของผู้สูงอายุ
สำหรับโรคอัลไซเมอร์ กลุ่มอาการสมองเสื่อมจะพบมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะอายุอายุมากกว่า 85 ปี เกิดจากการฝ่อตัวของสมองซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างและการทำงานของสมองบริเวณนั้น โดยเฉพาะสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา ซึ่งสามารถสังเกตได้จาก อาการหลงลืม เช่น ทำอะไรซ้ำ ๆ จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ สับสนเรื่องราวต่าง ๆ มีปัญหาการพูด จำเส้นทางไม่ได้ กลับบ้านไม่ถูก ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ อารมณ์แปรปรวน ก้าวร้าว ส่วนวิธีชะลอหรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ทำได้หลายวิธีโดยการฝึกบริหารสมองเป็นประจำ หากิจกรรมฝึกความจำให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้ใช้สมอง เช่น ฝึกถามตอบความรู้ทั่วไป เล่นดนตรีไทย วาดภาพ คิดเลข จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้
นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาทีใน 5 วันต่อสัปดาห์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมระดับความดันโลหิต ก็สามารถช่วยชะลอการเริ่มต้นของโรคได้เช่นกัน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2424 views