องค์การเภสัชฯ เริ่มฉีดวัคซีนโควิดสัญชาติไทย HXP-GPO Vac ระยะที่ 3 เข็มกระตุ้นจำนวน 4,000 คน  แบ่ง 2 ช่วงธ.ค.65 ถึง ม.ค.66 ศึกษาภูมิคุ้มกันเทียบแอสตร้าฯ คาดแล้วเสร็จกลางปี 66

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่ศาลาประชาคม ยงใจยุทธ ศาลากลาง จ.นครพนม นพ.เกรียงไกร ประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยหลักระยะ2 และ3 ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 HXP-GPO Vac ระยะที่ 3 ขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการศึกษาฉีดวัคซีนฯ ในอาสาสมัครเริ่มวันที่ 23 ธันวาคม 2565 เป็นวันแรก ว่า สำหรับการศึกษาวิจัยเฟสที่ 3 ในอาสาสมัครจำนวน 4,000 คน เป็นการติดตามความปลอดภัยดูผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่มีต่อเชื้อโควิด-19 โดยเน้นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะเปิดรับเป็น 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 23 - 29 ธันวาคมและช่วงหลังปีใหม่คือ วันที่ 5-11 มกราคม 2566

 

นพ.เกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับคุณสมบัติของอาสาสมัคร คือ มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม โดยเป็นชนิดเดียวกัน คือ ซิโนแวค+ซิโนแวค แอสตร้าเซเนก้า+แอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์+ ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา + โมเดอร์นา และผู้เป็นอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรง หากมีโรคประจำตัวต้องควบคุมได้ ผ่านการประเมินของแพทย์ และไม่เคยติดโควิดในช่วง 3 เดือนก่อนวันฉีด 

 

ทั้งนี้ มีอาสาสมัครที่สนใจ 1,500 คน จากนั้นที่เหลือสามารถมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ที่ศาลากลาง จ.นครพนม และอีกแห่ง คือ อำเภอนาแก จ.นครพนม  เมื่อมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจนครบอาสาสมัครทั้ง 4,000 คน ทางอภ. จะติดตามดูเรื่องความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อนำผลไปขึ้นทะเบียนกับอย.ในประเทศไทยเพื่อนำมาใช้เป็นวัคซีนโควิด 19 ในไทยต่อไป

นพ.เกรียงไกร กล่าวอีกว่า สำหรับอาสาสมัครที่เข้ามาจะมีจุดต่างๆ โดยเริ่มจากเข้ามาจุดแรกคือจุดลงทะเบียน มีการตรวจสอบคุณสมบัติ การรับวัคซีน 2 เข็มที่ผ่านมา  จากนั้นมาสู่จุดที่ 2 คัดกรองและเชิญเข้าร่วมโครงการเป็นจุดที่ให้ความยินยอม มีเจ้าหน้าที่ประจำ 10 ห้อง ทำหน้าที่แนะนำโครงการและขอความยินยอมเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะต้องยินยอมและเซ็นก่อนถึงจะเข้าร่วมโครงการได้

 

ต่อมาไปที่จุดที่ 3 เป็นการตรวจร่างกายดูสัญญาณชีพวัดไข้วัดอุณหภูมิวัดความดัน และก่อนพบแพทย์จะตรวจคัดกรอง ATK  จากนั้นจึงพบแพทย์เมื่อแพทย์อนุญาตจึงเข้าสู่ห้องฉีดวัคซีนมีจำนวน 5 ห้อง มีพยาบาลฉีดวัคซีนประจำจุดและหลังห้องฉีดวัคซีนจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย  หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จแล้วจะไปจุดสุดท้าย คือ จุดสังเกตอาการ 30 นาที เพื่อดูว่ามีอาการข้างเคียงอะไรหรือไม่ จากนั้นจะแนะนำเรื่องการติดตามอาการข้างเคียงเป็นระยะเวลา 1 ปี

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะอะไรเลือกพื้นที่จ.นครพนม นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า  พื้นที่จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่โครงการวิจัยระยะที่ 2  ซึ่งที่ผ่านมามีอาสาสมัครเข้าร่วมฉีดวัคซีน 300 คน ซึ่งดูผลความปลอดภัย เบื้องต้นยอมรับได้จึงเริ่มดำเนินการในระยะที่ 3 ในพื้นที่เดิม สำหรับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะที่ 2 เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป เช่นอาการเฉพาะที่ปวดบวมและแดง เปอร์เซ็นต์ในการเกิดอยู่ที่ 20% ในระดับของอาการเกิดอยู่ที่ระดับเล็กน้อย อาการไข้ เจอน้อยด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากวัคซีนอื่นทั่วๆไป

 

ด้าน ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผอ.ฝ่ายชีววัตถุ/รักษาการผู้จัดการโครงการผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงการศึกษาผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเฟส 3 ว่า เป็นการติดตามภูมิคุ้มกันในระยะ 14 วัน 3 เดือน และ 6 เดือน แต่ติดตามผลข้างเคียง 1 ปี อย่างไรก็ตาม ในการประเมินระดับภูมิคุ้มกันของวัคซีนโควิด-19 HXP-GPO Vac ระยะที่ 3 จะจับคู่กับวัคซีนเปรียบเทียบ โดยจะเปรียบเทียบกับวัคซีนแอสตร้าเซเนกา เนื่องจากโดยหลักการจะเลือกแพลตฟอร์มวัคซีนที่เหมือนกันเพื่อเปรียบเทียบ แต่วัคซีน อภ. ที่เราพัฒนาขึ้นมาไม่ได้มีแพลตฟอร์มเหมือนกับวัคซีนที่มีท้องตลาดซึ่งปรึกษาหารือกับอย. และผู้เชี่ยวชาญต่างๆในการเลือกวัคซีนเปรียบเทียบ สิ่งที่เราจะทำจะเทียบกับแอสตร้าเซเนก้า

 

"เราจะเปรียบเทียบเพื่อเป็นข้อมูลในการขึ้นทะเบียนกับ อย. เป็นหลัก คือ ช่วง 14 วันหลังจากการฉีด โดยจะมีการเจาะเลือดและนำผลไปศึกษา จากนั้นนำมาวิเคราะห์ และผ่านคณะกรรมการพิจารณาก่อนเสนอ อย. โดยขั้นตอนทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2566 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าอาสาสมัคร 4,000 คนคาดว่าจะมาครบหรือไม่ ภญ.พรทิพทย์ กล่าวว่า ทางจังหวัดยืนยืนว่าได้ตามเป้าหมาย