ผู้สูงวัยตื่นเช้า รีบลุกแล้วหน้ามืดบ่อย ๆ เป็นภาวะความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่า ไม่ใช่สัญญาณหัวใจอ่อนแอ แล้ววิธีสังเกตอาการโรคหัวใจต้องดูยังไงกันแน่?
โรคหัวใจ สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในลำดับต้น ๆ การเฝ้าระวังและคอยสังเกตร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันเกิดข้อมูลมากมายบนโลกออนไลน์ว่า อาการบางอย่างเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ เช่น หน้ามืดหลังตื่นนอนบ่อย สัญญาณหัวใจอ่อนแอ กรณีดังกล่าวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าเป็นภาวะที่ความดันโลหิตในร่างกายลดต่ำลงอย่างฉับพลันจากการเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน พบขณะลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านั่งหรือนอน เนื่องจากเลือดในร่างกายไหลเวียนกลับสู่หัวใจลดลงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วคราว เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด โดยเกิดบ่อยในช่วงเช้าของวัน ร่างกายขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือในขณะที่สภาวะแวดล้อมหรือร่างกายมีอุณหภูมิสูง พบบ่อยในผู้สูงอายุเนื่องจากหลอดเลือดแข็งตัวความสามารถในการหดและคลายตัวลดลง ผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิต ยารักษาพาร์คินสัน ยาทางจิตเวช และผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อ เช่นเบาหวานและแอดดิสัน อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
สำหรับอาการของโรคหัวใจ นพ.เคย์ เผ่าภูรี แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ อธิบายกับ Hfocus ว่า การสังเกตอาการ ตัวคนไข้ต้องดูว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ เช่น มีประวัติสูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวที่สำคัญอย่างความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง รวมไปถึงโรคเบาหวาน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจได้ พร้อมทั้งสังเกตอาการแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่า มีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ แต่โรคหัวใจก็จะมีการเจ็บหน้าอกในลักษณะที่จำเพาะ เหมือนกับมีของหนักมาทับ ร้าวไปที่สะบัก หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยอย่างใจสั่น เหงื่อออก ก็มักจะบ่งชี้ได้ว่า เป็นโรคหัวใจ และแม้แต่อาการเจ็บหน้าอกเพียงอย่างเดียวก็ยังเป็นโรคหัวใจได้ เพราะบางกลุ่มไม่แสดงอาการตรงไปตรงมา หากมีความเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านจะดีที่สุด เพราะการเจ็บหน้าอก ไม่ใช่แค่โรคหัวใจ แต่เป็นโรคอื่นได้อีก
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2418 views