สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วม สสจ. ตรวจร้านอาหารพบหมูแช่ฟอร์มาลีน ลงพื้นที่จ.ชลบุรี และใกล้เคียง ชี้หากปนเปื้อนเข้าข่ายอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับ หากสั่งปิดต้องใช้กฎหมายของกรมอนามัย
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีกรมปศุสัตว์ตรวจยึดโรงงานทำเนื้อสัตว์แห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งไม่มีใบอนุญาตผลิตอาหาร และใบอนุญาตค้าซากสัตว์ โดยพบว่ามีการใช้สารฟอร์มาลีนในการแช่เนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ และยังพบใบเสร็จส่งขายร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสาน ว่า เรื่องนี้มีความเข้าใจผิดอยู่เล็กน้อยว่ามีการตรวจพบเนื้อสัตว์ปนเปื้อนฟอร์มาลีนที่จังหวัดชลบุรี ส่งขายร้านอาหารอีสาน หลายคนเข้าใจว่าเป็นร้านอาหารที่เปิดในภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้ คือ ร้านอาหารอีสานที่เปิดในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
“ดังนั้น เราจึงโฟกัสไปที่จังหวัดชลบุรีเป็นหลัก โดยทางอย.ส่วนภูมิภาค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้มีการลงพื้นที่ออกตรวจคุณภาพเนื้อสัตว์ที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ผลยังไม่ออกมา อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฎเรื่องนี้ออกมา ทำให้หลายๆ จังหวัดมีความตื่นตัว และทยอยลงพื้นที่สุ่มตรวจร้านอาหารภายในจังหวัดแล้ว เช่น ที่จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดในภาคอีสานเองก็มีการดำเนินการเช่นกัน” ภก.วีระชัย กล่าว
ภก.วีระชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจนั้น เป็นการตรวจเบื้องต้นด้วยชุดทดสอบ หรือเทสต์คิท (Test kit) เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อน จำพวกสารฟอร์มาลีน สารกันรา สารฟอกขาว ทั้งนี้ หากตรวจด้วยชุดตรวจแล้วไม่พบ ก็สามารถสบายใจได้ว่ามีความปลอดภัย แต่หากตรวจเจอสารปนเปื้อนต่างๆ ต้องมีการเก็บตัวอย่างส่งไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจยืนยันผลและดำเนินการเอาผิดต่อไป เพราะผลตรวจด้วยเทสต์คิทไม่สามารถใช้ดำเนินคดีได้ อย่างไรก็ตาม กรณีมีการยืนยันผลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ร้านที่เจอสารปนเปื้อนจะถือว่ามีความผิดจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับแล้วอย่างเดียว ถ้าจะสั่งปิดร้านต้องนำเข้าคณะกรรมการอาหารเพื่อพิจารณา แต่ที่จริงตรงนี้ สามารถใช้กฎหมายของกรมอนามัยได้
รองเลขาธิการอย. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา อย.ได้มีการสุ่มตรวจคุณภาพ เพื่อหาสารปนเปื้อนในอาหารทั่วประเทศ และทำเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ก็ตรวจเจอสารปนเปื้อน รวมถึงฟอร์มาลีนบ้าง แต่ไม่มาก ก็ได้แจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะๆ อยู่แล้ว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมอนามัยชี้กิน “หมูแช่ฟอร์มาลีน” อันตราย! ขึ้นกับปริมาณที่ได้รับ ส่วนตามรอยร้านอาหารเป็นหน้าที่ท้องถิ่น)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 319 views