เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ผศ.ดร.ภิฤดี ภวนานันท์ อดีตอาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยโครงการวิจัยการประมาณการการค้าและการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ปี 2013-2018 สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยรายงานการวิจัยฉบับนี้ว่า ช่วงเวลา 5 ปี คือ ปี 2013-2018 เฉลี่ยคนไทยสูบบุหรี่ 2,815 ล้านซองต่อปี ในจำนวนนี้ประมาณ 522 ล้านซองหรือ 18% ของการบริโภคทั้งหมดเป็นบุหรี่หนีภาษี ตัวเลขนี้ไม่รวมบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้าจากชายแดนหรือประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นการลักลอบขนาดเล็ก จากการวิเคราะห์พบว่า รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากบุหรี่ลักลอบที่หลีกเลี่ยงภาษีโดยเฉลี่ยประมาณ 23% ของรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้ คิดเป็น 13,974 ล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ภาษีที่เก็บได้จริงจากบุหรี่หนีภาษี
ผศ.ดร.ภิฤดี กล่าวต่อว่า ผลวิจัยนี้ มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลความแตกต่างของปริมาณการขายบุหรี่ซิกาแรตที่ถูกกฎหมายจากกรมสรรพสามิตและการยาสูบแห่งประเทศไทย กับปริมาณการบริโภคบุหรี่ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการวิเคราะห์ความแตกต่างของปริมาณการค้าบุหรี่ระหว่างประเทศ จากประเทศส่งออกต้นทางมายังไทย โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของสหประชาชาติ UN-Comtrade
ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นโดยเฉพาะที่จังหวัดภาคใต้สถานการณ์บุหรี่หนีภาษีรุนแรงมาก สอดคล้องกับที่สมาคมการค้ายาสูบไทยได้ออกมาเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ขอให้รัฐบาลเอาจริงกับการปราบปรามบุหรี่หนีภาษี ซึ่งคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้มีมติตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เสนอให้รัฐบาลไทย เร่งลงสัตยาบันในพิธีสารขจัดการค้ายาสูบผิดกฎหมาย ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เพื่อยกเครื่องการควบคุมบุหรี่หนีภาษีทั้งระบบ แต่ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
ศ.นพ ประกิต กล่าวต่อว่า บุหรี่หนีภาษีที่มีปริมาณมากในไทย นอกจากรัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีที่ควรจะได้รับปีละนับหมื่นล้านบาทแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน บุหรี่ไม่เสียภาษีมีราคาถูกมาก ทำให้คนสูบบุหรี่สูบในปริมาณมาก ไม่มีความคิดที่จะเลิกสูบ และทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาเสพติดบุหรี่มากขึ้น อีกทั้ง บุหรี่หนีภาษีเกือบทั้งหมดเป็นบุหรี่ต่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อกิจการของการยาสูบแห่งประเทศไทยที่จะขายบุหรี่ได้น้องลง ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงชาวไร่ยาสูบที่จะได้รับโควตาปลูกยาสูบลดลง ขณะที่ร้านค้าปลีกที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายจะขายได้น้อยลงไปด้วย เพราะคนหันไปสูบบุหรี่หนีภาษีราคาถูกที่หาซื้อได้ง่าย
“การเร่งรัดลงทุนปราบปรามบุหรี่หนีภาษี จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง และรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการลงสัตยาบันในพิธีสารขจัดยาสูบที่ผิดกฎหมาย การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของพิธีสาร เพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products) ในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก จะช่วยประเทศที่เป็นภาคีเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมบุหรี่หนีภาษีเป็นวิน-วิน ทั้งด้านการจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นและคนสูบบุหรี่ลดลง จึงอยากฝากเรื่องนี้ถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ให้เร่งดำเนินการลงสัตยาบันในพิธีสารฯ อย่างเร่งด่วน” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
- 625 views