“หมอประสิทธิ์” ให้สัมภาษณ์สถานการณ์โควิด ในฐานะคณบดีศิริราชฯ วันสุดท้าย เนื่องจากหมดวาระดำรงตำแหน่ง 2 สมัย โดยขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ  ใช้บทเรียนโควิดป้องกันตนเอง หากมีการระบาดอีกก็จะมีแนวทางรับมือ ส่วนการถอดหน้ากากอนามัยหรือไม่ เมื่อเป็น นิวนอร์มอล (New Normal)  ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่หมายความว่าใครอยากใส่ก็ใส่ ใครไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน ขึ้นกับสถานการณ์ ปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ พร้อมย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีน เพิ่มภูมิคุ้มกัน

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โรคโควิด – 19 หลังวันที่ 1 ต.ค.2565 ที่โควิดจะกลายเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ในฐานะคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช เป็นวันสุดท้าย เนื่องจากหมดวาระการดำรงตำแหน่งมาแล้ว 2 สมัย ว่า  สถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันไม่ได้หลุดไปจากที่มีการค่าดการณ์เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยกำลังเข้าสู่ปลายทางของโรควิด – 19  ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ 1. ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก 2. การเข้ามาของสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่เร็ว แต่อาการไม่รุนแรง ซึ่งเมื่อแพร่เร็ว อาการไม่มากก็จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกัน คล้ายไข้หวัด

จากสถานการณ์ทั่วโลกก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะมีบ้าง เช่น จีนที่ยังมีมาตรการค่อนข้างเข็ม ประเทศอื่นๆ ก็ผ่อนคลายมาตรการลงไปมาก  และเท่าที่ติดตามสถานการณ์ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ในประทศที่มีการผ่อนคลายมาตรการไปแล้วนั้น เช่น ยุโรป ตัวเลขก็ไม่ได้เลวร้ายลง ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง เพราะตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเชื่อถือไม่ได้แล้ว  อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะเป็นสัญญาณปลายทางของของโควิด -19   แต่คนที่ต้องระวังอยู่ คือ กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ เพราะที่เสียชีวิตทุกวันนี้ในประเทศไทย แม้จะมีคนเสียชีวิตน้อย แต่เมื่อดูทั้งหมดก็เป็นกลุ่มเสี่ยงและยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเดินต่อไปในอนาคต ควรจะเป็นการถอดบทเรียนให้คนไทยได้ทบทวน เพราะเรารู้ว่าไวรัสโคโรนามีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งตัวใหม่ๆ มาก็ไม่ต้องตกใจเพราะเป็นธรรมชาติของไวรัส ตราบใดที่สายพันธุ์นั้นไม่ได้รุนแรงมากขึ้น ซึ่งหลายครั้งการกลายพันธุ์ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงบ้าง แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงได้ดี โดยการถอดบทเรียนต้องทำกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการดำเนินการกันหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม โรงเรียนแพทย์ รวมทั้งศิริราชพยาบาลก็มีการถอดบทเรียนเช่นกัน โดยได้สรุปบทเรียนที่จะออกมาในช่วงปีใหม่นี้  

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำ คือ  ในอดีตก่อนหน้านี้มีโรคซารส์ เมอร์ส จนมาถึงโควิด – 19 ล้วนเป็นไวรัสตระกูลโคโรนาทั้งสิ้น วันไม่ดีคืนไม่ดีจะเจอสายพันธุ์รุนแรงขึ้น ขณะที่ 3-4 ปี นับจากนี้ภูมิคุ้มกันของคนในโลกไม่ใช่แบบนี้ ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทผลิตวัคซีนว่าจะทำให้ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน เช่น ทิศทางอนาคตวัคซีนโควิด – 19 อาจะไม่ได้มาในรูปแบบของการฉีดก็ได้ ส่วนเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีการผลิตอยู่ก็สามารถผลิตได้ในหลายประเทศ  ตลอดจนจากนี้ การพัฒนาอาจจะไปที่ยารักษามากกว่า อย่างไรก็ตาม บทเรียนคือการรู้จักหลักการของการป้องกันโรคติดต่อ คือการไม่ใกล้ชิด

ดังนั้น หากวันข้างหน้าเกิดโรคกลับมาก็ขอให้คนไทยนึกถึงบทเรียนนี้ ตระหนักเรื่องของการป้องกันตนเองและครอบครัว   

เมื่อถามว่าขณะนี้ประเทศจีนยังคงมาตรการ ZERO COVID หากเปิดการท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว อาจจะเกิดการระบาดได้อีก นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เป็นอะไรที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ มีโอกาสระบาดได้ แต่ตราบใดที่คนในโลกนี้ภูมิคุ้มกันยังเยอะโรคมาก็ไม่เป็นอะไร เพราะจะเหมือนไข้หวัดที่ระบาดเป็นครั้งคราว ขณะเดียวกันถึงตอนนั้น เชื่อว่าคงไม่มีใครมานั่งตรวจใครฉีดวัคซีนหรือไม่ เหมือนบางโรคที่ไม่ได้จำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ประเทศที่ตรวจเจอในต้นทางควรให้ข่าวที่ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ทั่วโลกจัดการกับโรคได้    

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้คนสามารถถอดหน้ากากได้แล้วใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า ต่อไปในอนาคต นิวนอร์มอล (New Normal) ของเราไม่ได้แปลว่าไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่หมายความว่าใครอยากใส่ก็ใส่ ใครไม่อยากใส่ก็ไม่ต้องใส่ ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิ์  ส่วนตัวมีแนวโน้มชอบใส่หน้ากาก เพราะเวลาไปไหนมาไหนก็เสี่ยงน้อยลง ไข้หวัดใหญ่ก็ไม่ต้องกลัว ดังนั้น นิวนอร์มอลไม่ได้หมายความว่าไม่ใส่หน้ากาก คนอาจจะใส่หน้ากากน้อยลงแน่ๆ เหมือนใส่เสื้อนอก หรือผูกผูกเนคไท ซึ่งบางคนก็ไม่ใส่เสื้อนอก ไม่ผูกเนคไท กลายเป็น “นอร์ม” คือต่างคนต่างยอมรับซึ่งกันและกัน  

เมื่อถามย้ำว่าแปลว่าหลังวันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ชีวิตปกติของคนไทยคือนิวนอร์มอลใช่หรือไม่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า นิยามนินอร์มอลแปลความหมายกว้างมาก แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ส่วนนิวนอร์มอลของตน คือ ล้างมือบ่อยๆ มีแนวโน้มอยากใส่หน้ากาก ยิ่งเวลาไปที่ที่มีคนเยอะ เจอคนไอจามก็จะใส่หน้ากากก่อนเลย เมื่อไหร่มีวัคซีนมีฉีดวัคซีนแน่ๆ แต่คนอื่นอาจจจะไม่ ดังนั้นคำว่านิวนอร์มอล หมายความว่าโลกนี้ผ่านกระบวนการที่เป็นการบังคับ หรือควบคุมอย่างเข้มงวดไปแล้ว เพราะปัจจุบันไม่ได้เป็นโรคติดต่อร้ายแรงแล้ว ดังนั้นนิวนอร์มอลของแต่ละคนคือดูแลสุขภาพของตัวเอง ป้องกันตัวเองให้แข็งแรง ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เราไม่ได้เป็นการกลับมาควบคุมทุกอย่างเหมือนเดิมอีก

เมื่อถามว่าที่ผ่านมา มีผู้รู้ในวิชาชีพนั้น ออกมาให้ข้อมูล ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โควิด – 19 ทำให้เห็นสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาทั่วโลกคือ โซเซียลมีเดีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายเยอะมาก ไม่มีการควบคุม จนบางครั้งทำให้หเกิดผลกระทบ ทำให้เกิดความสับสนในสังคม ในขณะที่สังคมไทยแยก 2 อย่างออกจากกันไม่ได้ คือ “ข้อมูลจริง” กับ “ความคิดเห็น” ซึ่งความเห็นบางครั้งก็สอดคล้องไปกับข้อมูล บางคนความเห็นสวนทางกับข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเป็นความคิดเห็น อาจจะใช่หรือไม่ แต่ก็ไม่ผิดเพราะเป็นความคิดเห็น  ซึ่งบางคนอาจจะมองโลกรุนแรงไว้ก่อน และออกมาเตือนสังคม แต่คนรับสารควรมีดุลยพินิจ อย่าเพิ่งฟังจากแหล่งเดียวแล้วเชื่อทันที   นี่ก็เป็นบทเรียนใหญ่ที่ทำให้คนไทยปรับตัวเองต่อการตอบสนองกับสื่อ โซเซียลมีเดีย