ในปัจจุบัน มีกระแสการกินอาหารสด ๆ เป็น ๆ อาหารดิบ เช่น ปูนาที่ยังมีชีวิต กรณีนี้ ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม ศิรินธรปัญญา หัวหน้างานโรคทางเดินอาหาร กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี เน้นย้ำกับ Hfocus ว่า ปูนาหากแกะออกมาก็จะเห็นว่ามีพยาธิ พบเชื้อโรค ก็จะเสี่ยงต่ออาการท้องเสีย แม้แต่หอยนางรมที่คนชอบรับประทานก็มีเชื้อโรคซ่อนอยู่เสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อได้ จึงพบผู้ป่วยได้บ่อยขึ้นในปัจจุบัน
ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม อธิบายว่า อาการท้องเสียมี 2 แบบ 1.อาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด ทำไว้นานแล้วจนเชื้อโรคสร้างสารพิษขึ้นมา อาหารเป็นพิษ หรืออาหารทะเลมีเชื้อโรค หรือแม้แต่การกินยาบางชนิดก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการขับถ่ายมากขึ้นได้ พบได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส่วนในเด็กมักจะเจ็บป่วยด้วยโรต้าไวรัสและโนโรไวรัส เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กนั้นอ่อนแอกว่าผู้ใหญ่จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่า และแม้ผู้ใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสได้ดีกว่า ก็ยังสามารถพบได้ในผู้ใหญ่ที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่รับประทานยาเพื่อกดภูมิ 2.อาการท้องเสียแบบเรื้อรัง เช่น อาการลำไส้แปรปรวน มีการบีบรัดตัวลำไส้ผิดปกติทำให้ขับถ่าย อาจมีทั้งอาการท้องผูกและท้องเสียร่วมด้วย มักจะมีอาการท้องเสียเป็นระยะเวลานาน โดยแพทย์จะวินิจฉัยเมื่อคนไข้มีอาการท้องเสียนาน ๆ รวมถึงไม่มีสาเหตุอื่นสำคัญ ไม่มีการติดเชื้อ ไม่เกิดจากยา ไม่มีเนื้องอก ไม่มีปัญหาเรื่องฮอร์โมนผิดปกติ
สำหรับความเชื่อที่ว่า หากเกิดอาการท้องเสียต้องขับถ่ายออกให้หมด ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าการขับถ่ายหรืออาการท้องเสียนั้นเกิดจากอะไร หากเกิดจากสารพิษ กินของเสีย เมื่อขับถ่ายออกมาจนหมด คนไข้ก็จะหายได้ แต่ถ้าสารพิษเยอะแล้วปล่อยให้ขับถ่ายออกมาจนหมด ร่างกายของผู้ป่วยก็จะแย่ได้เพราะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกไปจำนวนมาก อีกทั้งผู้ที่มีอาการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ เป็นไข้ ขับถ่ายเป็นมูกเลือด จะปล่อยให้ขับถ่ายจนหมดไม่ได้ เพราะร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้
"โรคท้องเสียในปัจจุบัน หากไม่รุนแรงก็จะรักษาตามอาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก ดื่มน้ำเกลือแร่เสริม อาจรับประทานยาเพื่อดูดซับสารพิษช่วยในรายที่มีข้อบ่งชี้ เช่น มีไข้ ขับถ่ายมีมูกเลือด ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย ส่วนยาหยุดถ่ายไม่แนะนำให้กิน ยกเว้นว่าถ่ายเยอะมาก คนไข้สูญเสียน้ำเยอะจนแพทย์แน่ใจว่า ไม่ได้ติดเชื้อที่ทำลายเนื้อเยื่อลำไส้รุนแรง อาการบ่งชี้เช่นนี้แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อหยุดถ่ายได้" ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม กล่าว
ส่วนการดูแลสุขภาพในช่วงท้องเสีย ผศ.(พิเศษ) นพ.สยาม อธิบายว่า ขณะที่ท้องเสีย เยื่อบุลำไส้จะมีการย่อยหรือการดูดซึมได้ไม่ดี อาหารที่แนะนำในช่วงท้องเสียต้องย่อยง่าย สะอาด เป็นอาหารซึ่งดูดซึมง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก อาหารที่เป็นพวกผัก มีความเหนียว รสจัด เผ็ด มัน ต้องหลีกเลี่ยงเพราะย่อยยาก เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะท้องอืดแน่นท้อง ส่วนนมเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำในช่วงท้องเสียเช่นกัน เพราะนมเป็นอาหารที่ย่อยยาก ในร่างกายของเราบางทีจะมีการขาดน้ำย่อยของนมในเวลาท้องเสีย น้ำย่อยนมจะสูญเสียหน้าที่ไปด้วย ทำให้ย่อยนมได้ไม่ดี การกินนมช่วงท้องเสียจะทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ท้องเสียมากขึ้นได้ นอกจากนี้ น้ำผลไม้ก็ไม่ควรดื่มเพราะมีน้ำตาลสูงย่อยยาก ผักผลไม้จึงควรหลีกเลี่ยงจนกว่าจะหาย อย่างไรก็ตาม ควรดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนสำหรับคนท้องเสีย จะมีปริมาณเกลือแร่ที่เหมาะสม สามารถดื่มแทนน้ำได้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำเกลือแร่สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายที่มีปริมาณโซเดียมแตกต่างกัน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 19476 views