ช่วงหน้าฝนที่เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ง่าย สำหรับการดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้นั้น เบื้องต้นควรเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่า ควรใช้น้ำอุ่น น้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำเย็น กรณีนี้ นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดเชื้อกลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า การเช็ดตัวเป็นวิธีการลดไข้ที่ดีอย่างหนึ่ง ให้เช็ดตัวโดยใช้น้ำประปาอุณหภูมิปกติ ไม่ต้องใช้น้ำอุ่น หรือน้ำเย็น โดยเช็ดบริเวณที่อุณหภูมิสูง เช่น ศีรษะ ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ประคบไว้สักระยะจะช่วยลดไข้ได้ อย่างไรก็ตาม กรณีที่ใช้น้ำอุณหภูมิปกติแล้วยังมีไข้สูง สามารถใช้เจลแช่ตู้เย็นลดไข้ได้ โดยพันเจลไว้ด้วยผ้าขนหนูบาง ๆ แล้วใช้ในบริเวณ รักแร้หรือขาหนีบ แต่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำแข็ง
ส่วนความเชื่อที่ว่า ห่มผ้าหนา ๆ แล้วเหงื่อออกจะช่วยลดอาการไข้ลงได้ นพ.พจน์ อธิบายว่า หากไม่ได้มีอาการหนาวสั่น การเช็ดตัวก็เพียงพอแล้ว การที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น กลไกตามธรรมชาติก็มีวิธีที่ทำให้ความร้อนออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง ถ้าห่มผ้าหนา ๆ จะทำให้บริเวณที่ผิวหนังจะระบายความร้อนออกมาได้ยากขึ้น ทำให้อุณหภูมิร่างกายยิ่งสูงขึ้นได้ เทียบว่า ขณะที่ไม่ได้เป็นไข้ เมื่อสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ยังรู้สึกร้อนได้ เหงื่อออกได้เพราะรู้สึกร้อน
"กลไกที่มีเหงื่อเพราะร่างกายพยายามลดอุณหภูมิ ด้วยการขับเหงื่อออกมาเพื่อให้ความร้อนถูกระบายผ่านเหงื่อ ระเหยออกมาตามผิว เหงื่อจึงเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการลดไข้ของร่างกาย แต่ไม่จำเป็นต้องห่มผ้าหนา ๆ เพื่อให้เหงื่อออก การห่มหนาจะยิ่งร้อน ร่างกายต้องยอดขับเหงื่อ เป็นการเพิ่มไข้ให้ร่างกาย แนะนำให้สวมเสื้อผ้าปกติแล้วห่มผ้าบาง ๆ ก็เพียงพอแล้ว ให้ร่างกายระบายความร้อนออกมาได้ ยกเว้นกรณีหนาวสั่นจริง ๆ" นพ.พจน์ กล่าว
ส่วนการดื่มน้ำสำหรับคนที่เป็นไข้นั้น ควรดื่มน้ำอุ่นหรือไม่ นพ.พจน์ เสริมว่า การดื่มน้ำอุณหภูมิห้องธรรมดาก็เพียงพอ เวลาร่างกายมีไข้ อุณหภูมิสูงขึ้นก็จะทำให้ร่างกายขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อน มีน้ำระเหยออกมา ร่างกายก็จะสูญเสียน้ำอยู่แล้ว การดื่มน้ำก็เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง ทดแทนน้ำในร่างกายที่ระเหยออกไปเป็นเหงื่อ เปรียบกับหม้อน้ำรถยนต์ น้ำไม่พอก็ต้องเติมน้ำลงในหม้อน้ำรถยนต์ ร่างกายก็คล้ายเครื่องจักร หากขาดน้ำจะยิ่งทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้ การดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็จะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายกลับมาปกติได้เร็วกว่า ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำร้อนหรือน้ำที่เย็นจัด
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการไข้ขึ้นมาได้นั้น นพ.พจน์ เพิ่มเติมว่า การโดนฝนไม่ได้หมายความว่าร่างกายต้องเกิดเป็นไข้ขึ้นมา แต่เวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง หรือฤดูฝน ส่วนหนึ่งผู้ที่มีปัญหาภูมิแพ้อยู่อาจจะจมูกชื้น มีน้ำมูก สูดเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคปะปนในสิ่งแวดล้อมเข้าไปก็จะไปเกาะติดเยื่อบุทางเดินหายใจ เกิดโรคหวัดจากเชื้อไวรัสได้ง่าย เวลาที่ร่างกายมีเชื้อโรคเข้ามา ภูมิต้านทานก็จะทำงานเพื่อปกป้องร่างกาย การทำงานทั้งระบบภูมิต้านทานที่เป็นเม็ดเลือดขาวหรือสารน้ำแอนติดบอดี จากการฉีดวัคซีน หรือตอนที่เคยเจ็บป่วยติดเชื้อมาก่อน ภูมิต้านทานเหล่านี้จะทำงานโดยเพิ่มจำนวน สร้างสารเคมีออกมามากมายหลายชนิดเพื่อรับมือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา สารพวกนี้จะกระตุ้นให้ภูมิต้านทานทำงานมากขึ้น โดยเป็นสารที่คอยสื่อสารระหว่างภูมิต้านทาน อาจไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองส่วนที่เป็นไฮโปทาลามัส ซึ่งมีศูนย์ที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายอยู่ เมื่อรับรู้ว่าสารเคมีมากขึ้นกว่าปกติ ก็จะตั้งอุณหภูมิของร่างกายใหม่ให้สูงขึ้นกว่าเดิมเกิน 37 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้แบคทีเรียหรือไวรัสเพิ่มจำนวน ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเพื่อรับมือกับเชื้อโรค
"ในช่วงฤดูฝนมีอุณหภูมิที่เหมาะสมทำให้เชื้อโรค เชื้อไวรัส และแบคทีเรีย เพิ่มจำนวนได้ จึงมีการแพร่ระบาดของไวรัสได้หลายชนิด โอกาสที่จะสูดเอาเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายก็มีโอกาสมาก จึงติดเชื้อไวรัสจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย เพราะสิ่งแวดล้อมจะมีละอองฝอย สารคัดหลั่ง จากคนที่เจ็บป่วยแล้วไอจามปนอยู่กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อากาศไม่ระบาย" นพ.พจน์ ทิ้งท้าย
- 79706 views