ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบและยินดีที่ ไทย ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ตั้ง สำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Center for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) ถือเป็นความสำเร็จของ ไทย และสาธารณสุขไทยอย่างมาก ภายหลังประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเจรจาเพื่อเลือกประเทศที่ตั้งของศูนย์นี้มานานกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ของไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก โดยภารกิจสำคัญของศูนย์ APHEED คือ การเสริมสร้างขีดสมรรถนะของภูมิภาคอาเซียนในการเตรียมความพร้อม การป้องกัน ตรวจจับ และตอบโต้ต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่

ทั้งนี้ ศูนย์ APHEED มีกำหนดเปิดตัว (Soft Opening) ในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 (APEC Health Week) โดยจะมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เข้าร่วมเปิดศูนย์ด้วย โดยศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค ถนนสาทร

นายอนุชา กล่าวว่า “การที่ ไทย เป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ ACPHEED นั้นแสดงให้ถึงความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อระบบสาธารณสุขของไทย ว่ามีความสามารถในการจัดการได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 จนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่จะเดินหน้าตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้ ไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน รวมถึงบุคลากรการแพทย์ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทุ่มเทเสียสละ ให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤตไปได้”

ทั้งนี้ประเทศไทยและประเทสอินโดนีเซียเสนอตัวเป็นที่ตั้ง  APHEED มาตั้งแต่พ.ศ. 2563 ซึ่งมนที่สุดไทยก็ได้รับเลือก สำหรับงบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของAPHEED จะอยู่ที่ปีละประมาณ 12-15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจะใช้งบประมาณ 28-33 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยใน 5 ปีแรกของการจัดตั้ง APHEED จะต้องมีการตั้งงบลงทุนประมาณ 14-17 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี ทั้งการก่อสร้างตึก ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น โดยควรจะมีบุคลากรประมาณ 70-80 คนในระยะ 3 ปีแรก และภาพรวมควรจะมีบุคลากรทำงานในAPHEED ประมาณ 130-170 คน

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า งบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของ APHEED ซึ่งในปีแรกคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและจากกลไกการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน แต่ก็ยังไม่ทราบจำนวนสนับสนุนที่แน่ชัด ดังนั้นส่วนที่เหลือจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดทำข้อเสนอกรอบวงเงินเพื่อการเจรจาต่อรองไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของ APHEED ต่อปี และต้องไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

ทั้งนี้หากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งAPHEED จะได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพิจารณากำหนดกรอบการดำเนินการของAPHEED นำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและการดำเนินการป้องกันโรคร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนและความร่วมมือจากประเทศอื่น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยดังนี้คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่ให้การสนับสนุนในการคัดกรองและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การตรวจรักษา และการควบคุมโรคระบาดในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย นอกจากนี้ยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจร่วมกันของอาเซียนและจากประเทศในภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมทั้งยังช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข

 

ภาพ : อาคารศูนย์การแพทย์บางรัก กรมควบคุมโรค ถนนสาทร ที่ตั้งศูนย์ APHEED (ภาพจาก https://pr.moph.go.th)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง