จากกรณีโลกออนไลน์ที่มักจะมีข่าวการป้อนน้ำและอาหารให้ทารกต่ำกว่า 6 เดือน ทั้งกล้วยบดหรือข้าวบด ซึ่งทำให้ทารกเกิดอาการเจ็บป่วยไม่สบายได้ เพราะทารกในวัยต่ำกว่า 6 เดือน ควรกินนมแม่เพียงอย่างเดียวถึงจะดีที่สุด

วันนี้ (8 กรกฎาคม 2565) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ยืนยันกับ Hfocus ว่า ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ให้นมแม่อย่างเดียวจึงจะดีที่สุด (Exclusive Breastfeeding) แต่จากการสำรวจจำนวนทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวก็ยังต่ำอยู่ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว พบว่ามีเพียง 23% แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ลดลงเหลือ 14% แต่มีเกือบ 40% ที่แม่ให้ลูกกินน้ำตามหลังกินนมแม่ หรือความเชื่อเรื่องการดื่มน้ำล้างปาก ทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะในนมแม่มีปริมาณน้ำเยอะอยู่แล้ว และนมแม่ยังมีภูมิคุ้มกันโรค สารต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่ป้องกันเชื้อโรคได้ดีอีกด้วย 

นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า การป้อนอาหารเสริมให้ทารกก่อน 6 เดือน เป็นการกระทำที่อันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ อาจทำให้ทารกเจ็บป่วยไม่สบายจากอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลำไส้อุดตัน จึงควรรอให้อายุครบ 6 เดือนเสียก่อน เมื่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์ จึงจะเสริมด้วยอาหารที่เหมาะสมตามวัย ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ปี สำหรับอาหารมื้อแรกของทารกควรเริ่มจากข้าวบดก่อน แล้วค่อยมาเป็นผักบดหรือผลไม้ ในวันแรกควรเริ่มวันละ 1 มื้อ มื้อละ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วค่อยเพิ่มทีละหนึ่งช้อนโต๊ะในสัปดาห์ถัด ๆ ไป โดยเริ่มให้อาหารตามวัยที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ทุกวัน เพิ่มจำนวนมื้ออาหารตามวัยเมื่ออายุลูกเพิ่มขึ้น จนครบ 3 มื้อ เมื่ออายุ 10-12 เดือน 

"อาหารทารกควรมีความเหลวเพื่อให้ทารกได้ฝึกกลืน ควรเริ่มให้ในมื้อเช้าหรือมื้อเที่ยง จากนั้นให้สังเกตว่าทารกมีอาการแพ้หรือไม่ เช่น ไข่ไก่ควรเริ่มจากไข่แดงก่อน จากนั้นเริ่มด้วยผักก่อนค่อยผลไม้ ทารกจะได้ไม่ติดรสหวาน ส่วนปลาให้เริ่มด้วยปลาน้ำจืด จนอายุ 1 ปีขึ้นไปค่อยเสริมด้วยปลาทะเลและไข่ขาว เลี่ยงการปรุงรส ไม่เติมน้ำตาล น้ำปลา ทุกอย่างควรทำสด โดยเฉพาะผลไม้ไม่ควรเกิน 15 นาที เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน อาหารควรอุ่นให้ร้อนก่อนกิน ถ้าอาหารเหลือให้ทิ้งทันที ไม่ควรเก็บไว้ในมื้อถัดไป" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ส่วนทารกที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ที่ต้องใส่ใจในการดูแลมากเป็นพิเศษนั้น นพ.เอกชัย กล่าวว่า ทารกปากแหว่งเพดานโหว่จะมีการใส่เครื่องมือเทียมหรือเพดานเทียม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสำลัก แต่การอุ้มทารกให้ถูกวิธีก็สำคัญ ควรอุ้มให้ทารกหัวสูง ตั้งตัวทารกให้ศีรษะเอียง 45 องศา ในท่าที่ถนัดต่อการดูดนมแม่ หรือให้นั่งท่าตรง 90 องศา เมื่อทารกดูดนมจะสามารถป้องกันการสำลักได้ แต่ปัญหาของทารกที่มีภาวะดังกล่าวมักจะดูดกลืนเอาลมเข้าไปได้ง่าย หลังดูดนมทุกครั้งต้องอุ้มเรอ ไม่ให้ทารกนอนทันที หากทารกมีอาการหอบเหนื่อยดูไม่สบาย นมล้นออกมาไม่ยอมกลืน ก็ให้หยุดพักสักครู่ ให้ทารกดูดกลืนนมแม่จนหมดค่อยให้ดูดนมอีกครั้ง จากนั้นใช้ผ้าก็อซจุ่มน้ำเช็ดบริเวณเหงือกหรือเพดานปาก โดยเฉพาะบริเวณรอยแยกให้สะอาดเพื่อไม่ให้ทารกติดเชื้อ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org