“ทพ.อรรถพร” รองเลขาธิการ สปสช. เยี่ยมชมการดำเนินงาน”นวัตกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้” กปท.วังทอง ร่วมกับ รพ.วังทอง จ.พิษณุโลก สอดรับกับ สปสช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่ายแก่ผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ร่วมกับ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมคณะ ที่ โรงพยาบาลวังทอง จ.พิษณุโลก เยี่ยมชมการดำเนินงาน”นวัตกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้” เพื่อแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่แบบซักได้ให้ผู้สูงอายุทั้งอำเภอที่มีปัญหาการขับถ่าย กลั้นอุจจาระ-ปัสสาวะไม่ได้ สอดคล้องกับที่ สปสช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่ายแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งมีนายสมพร ทัดแพ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังทอง (กปท.วังทอง) อ.วังทอง จ.พิษณุโลก สนับสนุนโครงการดังกล่าวและให้การต้อนรับคณะ
ทพ.อรรถพร รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 2 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่าย เป็นสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ โดยให้หน่วยบริการ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำโครงการเสนอขอใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) แจกให้แก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง ตลอดจนกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะอุจจาระได้ โดยต้องมีระดับค่า ADL คะแนน 0-6 และมีแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) แล้ว จำนวน 3 ชิ้น/คน/วัน ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ผู้พิการ และผู้มีปัญหากลั้นขับถ่ายได้อย่างมาก
ด้านนางไพลิน ตั้งศรีวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลวังทอง ในฐานะเป็นผู้คิดริเริ่มโครงการนวัตกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนวัตกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้ เกิดจากการได้เห็นผู้ป่วยที่ฐานะทางบ้านไม่ดีและมีปัญหาการขับถ่าย กลั้นอุจาระ-ปัสสาวะไม่ได้ เกิดความสกปรกและยิ่งทำให้สุขภาพแย่ลง จึงเกิดไอเดียทำกางเกงที่สามารถกันปัสสาวะซึมได้ขึ้นมา ตั้งแต่ปี2560 โดยใช้ผ้าร่มชนิดกันน้ำร่วมกับและผ้าขูดขน(ผ้าสาลู)ที่มีคุณสมบัติซับน้ำได้ดี เพิ่มด้วยแผนรองซับอีกหนึ่งชั้น มีทั้งรุ่นหนาและบาง และมีขนาดตั้งแต่ ไซต์ เอส-เอ็กซ์เอล(s-xl)และได้มีการพัฒนามาตลอดเพื่อให้ผู้สูงอายุทีรติดบ้านติดเตียงได้ใช้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำเร็จรูปที่ผู้สูงอายุบางคนบ่นว่าทำให้ผิวหนังอักเสบและคันเป็นแผล
“ตนได้พยายามปรับต้นแบบในการทำผ้าอ้อมแบบซักได้และกลับมาใช้งานอยู่ประมาณ 6-7 ครั้งกว่าจะได้ออกมา และ เมื่อเทียบกับผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ประหยัดกว่า เพราะถ้าซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูป ราคาผืนละ 13 บาท ใช้วันละ 4 ชิ้น เป็นเงิน 52 บาท เดือนละ 1,560 บาท ค่าใช้จ่ายต่อปี 18,720 บาท ขณะที่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ที่พัฒนาขึ้นเองนี้มีต้นทุนอยู่ที่ชิ้นละ 1,000 กว่าบาท ใช้งานได้ 3 ปี ซึ่งรวมแล้วประหยัดเงินค่าใช้จ่ายไปได้ 15,512 บาท นอกจากนี้ยังสามารถลดขยะจากผ้าอ้อมสำเร็จรูปทั่วไปได้กว่า 1,728 กิโลกรัม”นางไพลิน ผู้คิดริเริ่มโครงการนวัตกรรมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ซักได้ กล่าว
ด้าน นางบุศรา โล่พิเรืองทรัพย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ คลินิคหมอครอบครัว ศูนย์สุขภาพชุมชนวังทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เล่าว่า การจะเข้ามาดูแลผู้ป่วยต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 70 ชั่วโมง โดยมีค่าตอบแทนเป็นเดือน เดือนละ 300-600 บาท จำแนกตามระดับอาการของผู้ป่วย โดยกลุ่มที่ 1-2 คือเป็นผู้ป่วยติดบ้านสามารถช่วยเหลือตนเองได้เล็กน้อย , ความจำหลงลืม กลุ่มที่ 3-4 คือเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายค่อนข้างลำบาก ควบคุมตนเองไม่ค่อยได้
ซึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานอยู่ดูแล อาจเนื่องจากมีความจำเป็นต้องหารายได้เพื่อมาเลี้ยงครอบครัว จึงเริ่มมีสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบางครั้งผู้ป่วยบางรายไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย มีอาการหลงลืม เราจึงมองเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุที่เขาอาศัยอยู่เพียงลำพัง อย่างไรก็ตาม คนที่มาทำงานนี้เป็นคนมีใจเอื้ออารี มีความรักความเมตตา ไม่รังเกียจผู้ป่วย ดูแลเปรียบเสมือนญาติพี่น้องตนเอง โดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากนี้ยังมี อสม. เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
ในช่วงบ่ายคณะลงพื้นที่ เยี่ยมผู้สูงอายุที่ใช้นวัตกรรมดังกล่าว 2 หลัง คือ บ้านนางชะอุ้ม มีมาก อายุ 75 ปี ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับค่า ADL คะแนน 5 (จากเต็ม 20 ) ติดเตียง 2 ปี ก่อนหน้ามีภาวะขาอ่อนแรง จับตามราวเข้าห้องน้ำเองได้ หลังจากหกล้ม สะโพก ขา ด้านขวา ร้าว เป็นผู้ป่วยติดเตียง ต้องทำกายภาพทุกอาทิตย์ เริ่มมีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้ มากว่า 1 ปี เนื่องจากไม่ได้ขยับร่างกาย ต้องใช้แพมเพิร์สแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งเบิกจากกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) จำนวน 2,000 บาท/เคส/ปี (6แพค) และแสดงความประสงค์ใช้ผ้าอ้อมซักได้มา 3 เดือนแล้ว
และบ้านนางหวล แสงน้ำปาด อายุ 91 ปี ADL 3 คะแนน(จากเต็ม 20 ) ซึ่งมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เดินได้ มีตาพร่ามัว กระทั่งภาวะ stroke เดินไม่ได้ มา1 ปี ปัจจุบันอาการดีขึ้น นั่งรถเข็นได้แล้ว
- 815 views