วงเสวนา ห่วงกัญชาในไทยแทบเสรี หลังพ.ร.บ.กัญชา คลอดไม่ทันปลดล็อกการใช้ 9 มิ.ย.นี้ ห่วงกระทบสุขภาพ หลังพบข้อมูลวัยรุ่นใช้แบบสูบเพิ่มขึ้นตั้งแต่ยังไม่ใช้ภายใต้เงื่อนไข เตือนระวังผิดอนุสัญญายาเสพติด อย่าหละหลวม ด้าน อย.แจง ตรวจยิบก่อนขึ้นทะเบียนอาหาร
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) จัดเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญาการเสพติด โดยมี รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการ ศศก. พล.ต.นพ.พิชัย แสงชาญชัย ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดประเทศไทย น.ส.ดิษญา กิตติธนวิมล นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ อดีตประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ร่วมเสวนา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า จากการสำรวจครั้งล่าสุดของ ศศก. พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้กัญชาเพิ่มสูงขึ้น หลัง 3 ปีที่ประเทศไทยเริ่มเปิดให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ โดยพบการกิน การดื่มมากที่สุด และพบมากในวัยกลางคน ซึ่งไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากลักษณะที่ใช้นั้น ทางอย.ยังมีการควบคุมอยู่ แต่ที่น่ากังวลคือพบเด็ก และเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีการสูบกัญชามากขึ้น ขณะที่วันนี้ประเทศไทยกำลังก้าวต่อไปจนสุดถึงขั้นไม่มีการควบคุมการใช้สันทนาการ เนื่องจากร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ....ที่จะนำมาใช้ควบคุมนั้นยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่คาดว่าไม่น่าจะทันการปลดล็อคกัญชาการใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ดังนั้นคาดว่าน่าจะมีมาตรการออกมาเรื่อยๆ เพื่อป้องกันผลกระทบ
พล.ต.นพ.พิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจากกัญชามีมารักษาเรื่อยๆ และมีปัญหาเลิกได้ยาก ยังมีปัญหาทางจิตเวชตามมาพอสมควร เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเรื้อรัง ทั้งนี้ในกัญชามีสาร THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเมื่อรับเข้าไปในร่างกายจะทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม เป็นสุข เสพติดได้ มีผลต่อสมองและระบบประสาท สมองช้า มึน เมา เมื่อมีฤทธิ์เป็นสุขยิ่งทำให้ใช้มากและเสพติด ในระยะหลังพบว่าอาจจะมีฤทธิ์ทางยา เช่น ลดอาการคลื่นไส้ ลดอาการปวด ลดกล้ามเนื้อหดเกร็ง ช่วยการนอนหลับและการเจริญอาหาร แต่เป็นการรักษาอาการเท่านั้นไม่ใช่การรักษาโรค ที่น่ากังวลคือกัญชาสายพันธุ์ใหม่ ๆ มีปริมาณ THC ค่อนข้างสูง การปลดล็อคกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะยังไม่มีพ.ร.บ.เข้ามาควบคุมการใช้ไปในทางไม่เหมาะสม รวมถึงการออกฤทธิ์ทำให้มึนเมาเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการเมากัญชาด้วย
“ในจังหวะช่วงที่ปลดล็อคแล้วขณะที่ยังไม่มีพ.ร.บ.ฯ ออกมาควบคุม มันก็จะคล้ายๆ กับกัญชาเสรีโดยปริยาย แล้วจะเกิดปรากฏการณ์ของการขายกัญชาตามท้องถนนหรือไม่ เหมือนกับที่เราเห็นในพืชกระท่อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราห่วงใยว่าจะมีการนำไปเสพเพื่อสันทนาการ ดังนั้นต้องมีมาตรการออกมาควบคุม” พล.ต.นพ.พิชัย กล่าว
น.ส.ดิษญา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่ละฉบับตามวัตถุประสงค์ที่ขอ เช่น เป็นยาก็อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ยา เป็นอาหารก็อยู่ภายใต้พ.ร.บ.อาหาร 2522 โดยกำหนดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ซึ่งหากปรุงอาหารรับประทานตามบ้านนั้นไม่ต้องขออนุญาต แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุเป็นแพคเกจสำเร็จรูปจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียน ซึ่งในกฎหมายจะมีการกำหนดปริมาณความปลอดภัยของสารต่อหน่วย โดยประยุกต์มาจากการประเมินความปลอดภัยของประเทศแคนาดา เช่น มี THC ไม่เกิน 1.6 mg ต่อหน่วยบรรจุ และ มี CBD ไม่เกิน 1.41 mg ต่อหน่วยบรรจุ คำเตือนอย่างชัดเจน แต่ไม่ให้ระบุถึงสรรพคุณ และไม่ให้ปรากฏรูปภาพ อย่างไรก็ตามการพิจารณาขึ้นทะเบียนต้องละเอียดหลายขั้นตอน ส่วนเรื่องคำแนะนำ หรือข้อห้ามในการใช้นั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอนามัยได้ออกประกาศคำแนะนำอยู่แล้วว่าห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภทที่ห้ามมีกัญชาเป็นส่วนผสม อาทิ กาแฟสำเร็จรูป กาแฟสำเร็จรูปที่สกัดคาเฟอีนออก เนยเทียม ช็อกโกแลตทุกชนิด ไข่เยี่ยวม้า เป็นต้น
ด้าน ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า จากการติดตามเรื่องการใช้กัญชาในประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปพอสมควร แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการละเมินอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวฯ ค.ศ.1972 กำหนดให้ประเทศสมาชิกเห็นความสำคัญป้องกันปัญหาทางสุขภาพของประชาชนออกกฎหมายในการควบคุม ป้องกันยาเสพติด กรณีสารเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ก็ต้องมีการใช้ภายใต้การควบคุม และรายงานอย่างเป็นระบบ สำหรับพืชเสพติดยังมีการกำหนดให้มีการกำกับการปลูก การนำไปใช้ อยู่ 3 ชนิด คือต้นฝิ่น ต้นโคคา และต้นกัญชา ซึ่งมีการอนุญาตนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ดังนั้นในเรื่องของอาหารนั้นถือว่าเป็นทางการแพทย์ได้หรือไม่ ต้องวิเคราะห์กันพอสมควร
“รัฐควรทำให้สอดคล้องกับข้อกำหนดในสนธิสัญญาเพื่อลดการรั่วไหล นำไปใช้ในทางที่ผิด อย่าหละหลวม ซึ่งถ้าปลูกบ้านละ 6 ต้น จะควบคุมอย่างไร การรายงานไปยัง UN คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสนธิสัญญาระบุว่ารัฐต้องควบคุมด้วยการออกใบอนุญาตในการผลิต และใช้อย่างชัดเจน และต้องรับประกันว่ายาที่ผลิตจากดอกกัญชา มีข้อมูลความปลอดภัยสอดคล้องกับหลักสากล การใช้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และที่สำคัญหากประเทศสมาชิกที่อยู่ใกล้กัน ได้รับผลกระทบจากประเทศสมาชิกหนึ่ง เขานั้นสามารถฟ้องไปยัง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ ได้” ดร.วิโรจน์ กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 249 views