20 มีนาคม “วันทันตสาธารณสุขโลก” สปสช. ชูสิทธิประโยชน์บัตรทอง ดูแลสุขภาพช่องปากคนไทย ทั้งบริการรักษา-ส่งเสริม-ป้องกัน ครอบคลุมตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงวัย ล่าสุดบอร์ด สปสช. เคาะมติจัดหารากฟันเทียมกว่า 7,000 ชุด สนับสนุนบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันทันตสาธารณสุขโลก” เพื่อให้ทุกประเทศรณรงค์ป้องกันการสูญเสียฟัน ซึ่งประเทศไทยเองภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มีบริการทันตกรรมที่นับเป็นอีกหนึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ให้ครอบคลุมบริการที่จำเป็นในทุกกลุ่มวัย ทั้งกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่น กลุ่มผู้ใหญ่ ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ จากสถิติการรับบริการผู้ป่วยนอก (OP) ของสิทธิบัตรทอง ในปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการรักษาฟันผุ จำนวน 2,721,998 ครั้ง เป็นอันดับที่ 9 ตามมาด้วยบริการรักษาเหงือกอักเสบและปริทันต์ จำนวน 1,498,664 ครั้ง ซึ่งเป็นอันดับที่ 11 ขณะที่บริการรักษาโรคของเนื้อเยื่อในฟันและเนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน มีจำนวน 1,321,107 ครั้ง เป็นอันดับที่ 13 ของโรคหรือกลุ่มโรคที่มีผู้เข้ารับบริการทั้งหมด สำหรับในส่วนบริการทันตกรรมจัดฟันและฝึกพูดในผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาปากแหว่ง/เพดานโหวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กแรกเกิด ปี 2564 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ จำนวน 999 ราย 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นอกจากบริการรักษาทันตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการขูดหินปูน การอุดฟัน หรือการถอนฟันแล้ว สิทธิบัตรทองยังครอบคลุมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้านทันตกรรมด้วย ซึ่งบริการนี้ดูแลประชาชนในทุกสิทธิประกันสุขภาพ ไม่จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองเท่านั้น แต่ครอบคลุมคนไทยทุกคนเพื่อให้เข้าถึงบริการส่งเสริมและป้องกันให้มีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี โดย สปสช. ได้จัดเป็นสิทธิประโยชน์กลุ่มวัยตามความจำเป็นที่ต้องได้รับบริการ

เริ่มจาก “กลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี” จะได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก และการเคลือบฟลูออไรด์, ทาฟลูออไรด์วานิช ต่อมาใน “กลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นอายุ 6-24 ปี” “กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี” และ “กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป” จะได้รับบริการตรวจสุขภาพช่องปาก การเคลือบฟลูออไรด์ ทาฟลูออไรด์วานิชความเข้มข้นสูงเฉพาะที่เช่นเดียวกัน มีเพียงบริการการเคลือบหลุมร่องฟันสำหรับฟันกรามถาวรซี่ที่ 6, 7, 4 และ 5 ที่จะเป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นเท่านั้น ขณะที่ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ยังมีบริการขัดและทำความสะอาดฟัน ช่วงฝากครรภ์ ครั้งที่ 1 หรือ 2 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า นอกจากนี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา สปสช.ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ คือบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ไม่มีฟันทั้งปาก และมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา คิดเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 24,200 บาทต่อราย

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมการจัดหารายการรากฟันเทียม เป็นรายการตามแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษ ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7,000 ชุด วงเงินไม่เกิน 21 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมอย่างครบวงจร

“หลังจากที่บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบแล้ว สปสช.ได้แจ้งเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถีดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมรายการรากฟันเทียม เป็นรายการตามแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จําเป็นตามโครงการพิเศษต่อไป ซึ่งเป็นการสนับสนุนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ทำให้มีฟันในการบดเคี้ยวอาหารที่ช่วยให้ผู้สุงอายุมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์เพื่อให้ครอบคลุมการดูแลคนไทยทุกกลุ่มวัย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

 

 

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org