ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ชง “อนุทิน” ให้ความสำคัญผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีกว่า 4 แสนเข้าถึงการรักษา ขอให้กรมการแพทย์ปรับเแนวทางใหม่รับยารวดเร็ว ก่อนจะลุกลามเป็นมะเร็งตับ เหตุมีคนไข้กองรอรักษา รพ.ชุมชน เป็น10-20 คน ขณะที่เลขาฯสปสช. และผู้ทรงฯสธ.รับเรื่องแทนแล้ว ล่าสุด อภ.ผลิตยาสูตรรวมเม็ดได้เองต่อคอร์ส 9 พันบาท กินต่อเนื่อง 3 เดือนหายขาด
ปัจจุบันการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี เป็นสิทธิประโยชน์การรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งตามมาตรฐานการรักษา มียาสูตรรวมเม็ด (Sofosbuvir+Velpatasvir) รับประทาน 12 สัปดาห์ สามารถรักษาไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ มาตั้งแต่ เดือน ม.ค. 2564 แต่ยังมีปัญหา ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เข้าไม่ถึงการรักษา สูญเสียโอกาสการรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนป่วย ขณะเดียวกัน ยาที่ระบบหลักประกันสุขภาพเตรียมไว้ ทยอยหมดอายุ ประเทศต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อแลกเปลี่ยนยาใหม่มาทดแทน สาเหตุส่วนหนึ่ง มาจากการมีการกำหนดคุณสมบัติของแพทย์ผู้รักษา, ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย, แนวทางการรักษา ที่เป็นอุปสรรคการเข้าถึงยา ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ ผู้ป่วยไม่ได้รับการส่งต่อ หรือส่งต่อแต่ต้องไปรักษายังหน่วยบริการที่ห่างไกลจากบ้าน ผู้ป่วยไม่สะดวกในการเข้ารับบริการต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อเสนอข้อเรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานให้ทันท่วงทีและทั่วถึงทุกกลุ่มประชากร โดยมีนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข รับเรื่องดังกล่าว
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มีข้อเสนอเพื่อให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานและทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การกาจัดโรคไวรัสตับอักเสบซี ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่มีเป้าหมาย ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบซีลงร้อยละ 65 และลดการติดเชื้อรายใหม่ลงร้อยละ 90 ภายในปี 2573 โดยข้อเสนอ คือ ขอให้มีการปรับแนวทางกำกับการใช้ยา Sofosbuvir+Velpatasvir ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยขอให้ปรับยา Sofosbuvir+Velpatasvir ออกจากรายการบัญชียา จ.(2) ไปอยู่ในรายการบัญชียาที่ทาให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้คล่องตัวมากขึ้น และปรับข้อบ่งใช้ยา Sofosbuvir+Velpatasvir ให้แพทย์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมสามารถทาการรักษาได้ โดยให้มีระบบการปรึกษาอายุรแพทย์ทั่วไป หรืออายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร
“ ตัดเกณฑ์ที่สามารถเข้าการรักษาที่กำหนดให้ต้องตรวจพบ HCV RNA ในเลือดตั้งแต่ 5,000 IU/mL ออก ปรับให้เป็น เมื่อตรวจพบ HCV RNA ในเลือด ก็เข้าเกณฑ์รักษาได้ และ ตัดเกณฑ์ภาวะพังผืดในตับออก ไม่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเข้ารับการรักษา แต่ยังคงการตรวจภาวะพังผืดในตับเพื่อวางแผนการรักษา โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยตับแข็ง และขอให้ขยายอายุผู้ที่มีสิทธิได้รับการรักษา จากเดิม 18-70 ปี ปรับเป็น 18 ปีขึ้นไป ไม่มีกำหนดอายุสูงสุด”
นอกจากนี้ ขอให้พัฒนาระบบบริการให้โรงพยาบาลชุมชนรักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษา ใกล้บ้าน ใกล้ใจ ไม่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับการตรวจรักษา พัฒนาบุคลากร แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจและให้การดูแลรักษาไวรัสตับอักเสบซีตามสิทธิประโยชน์ได้ จัดทาแนวทางการส่งต่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ชัดเจน ระหว่างโรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลแม่ข่าย และโรงพยาบาลศูนย์
รวมทั้งขอให้มีการจัดหายารักษาที่มีประสิทธิภาพ เท่าทันกับมาตรฐานการรักษาที่ก้าวหน้ามากขึ้น ส่งเสริมให้บริษัทยาชื่อสามัญ ใหมาขึ้นทะเบียนยาในประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและลดการผูกขาดจากบริษัทชื่อสามัญต่างชาติเพียงบริษัทเดียว และต่อรองให้ได้ราคายาที่สมเหตุผลที่สุด กำหนดมาตรฐานการรักษา และการเบิกชดเชยของหน่วยบริการ ทุกกองทุน ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และอื่นๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดปัญหาหน่วยบริการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้รับบริการ
นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า ข้อดีคือ ยาที่มีในระบบจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคนที่ติดไวรัสตับอักเสบที่อยู่ใน รพ.ชุมชน จะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว และไม่นำไปสู่มะเร็งตับ ซึ่งตรงนี้เป็นการป้องกันไม่ให้คนเป็นมะเร็ง และคุณภาพของผู้ป่วยจะมีคุณภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ เพราะโรคนี้กินยา 3 เดือนหายขาด ที่สำคัญเราคิดว่า ยาดีขึ้น ใช้ง่ายขึ้น การพัฒนาระบบบุคลากร หมอ แล็บ หากเบ็ดเสร็จที่รพ.ชุมชน จะไม่เป็นภาระคนไข้ เพราะปัจจุบันระบบภายในกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรในสธ.ยังเข้าใจเรื่องนี้น้อยไป โดยปัจจุบันมีคนไข้ที่รอรักษาในรพ.ชุมชน(รพช.)10-20 คน
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า คนที่ได้รับรักษามีหลักร้อยคน จากจำนวนยาที่ซื้อมา 300 กว่าล้าน ตอนแรกหวังว่าจะมีคนมารักษามาก แต่รักษาไปพันนิดหน่อย แต่ยังรอรักษาอีกเป็นร้อยๆคน ยาก็เหลือต้องเอาไปแลกใช้ยาอื่นอีก กลายเป็นไม่คุ้มค่า ดังนั้น เราต้องรีบรักษาพวกเขา ยิ่งคนที่ติดไวรัสตับอักเสบซีร่วมกับเอชไอวี จะมีโอกาสตับถูกทำลาย เป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไป 9 เท่า ซึ่งปัจจุบันมีเกณฑ์กำหนดการรักษาว่า หากเจอเอชไอวีต้องได้ตรวจค่าไวรัส แม้ได้ตรวจจริง อย่างหากตรวจเป็นบวก ก็ต้องไปนับจำนวนไวรัสซี ว่า หากน้อยกว่า 5 พันยังไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเกินให้ไปรักษา ก็รอกันไป ปัญหาคือ ผอ.รพ.ส่งไปตรวจ แต่หากไวรัสน้อยเบิกค่าตรวจไม่ได้ อันนี้กรณีที่ไม่ได้เป็นเอชไอวีร่วม ตรงนี้ทำให้รพ.ไม่กล้าไปเบิกเงิน เพราะค่าตรวจ 2.5 พันบาท
“ที่ผ่านมาบางรพ.ส่งไป ค่าไวรัสถึงก็ทำเบิกได้ แต่บางรพ. ต้องจ่ายเอง หลายรพ.จึงไม่จ่าย ดังนั้น หากคนไข้อยากตรวจอยากรักษา ก็จ่ายเองไปก่อน ซึ่งหากถึงเกณฑ์รักษาได้ก็จะคืนเงินให้ ตรงนี้เป็นปัญหา ประชาชนไม่มีเงินจ่าย ทาง รพ.ก็ไม่อยากเสี่ยง ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดต้องปรับเกณฑ์ใหม่ เพราะเกณฑ์นี้ใช้มาประมาณ 3 ปีแล้ว จึงขอให้ทางกรมการแพทย์พิจารณาปรับเกณฑ์เรื่องนี้ และขอให้คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติที่จะมีการประชุมเร็วๆนี้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากหากมีการปรับเกณฑ์จะทำให้คนทั่วไปที่ป่วยไวรัสตับอักเสบซีมีโอกาสเข้าถึงการรักษา ไม่ใช่เฉพาะคนไข้ที่มีโรคเอชไอวีร่วมถึงจะได้รับการรักษาก่อนเท่านั้น” นายนิมิตร์ กล่าว
พญ.ปฐมพร กล่าวว่า ขณะนี้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และสมาคมโรคตับถึงการปรับเกณฑ์แนวทางการรักษา ถึงการปรับแนวทางดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยาการรักษานั้น เดิมองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตยาตัวเดี่ยว แต่เมื่อมีการปรับปรุงมาตรฐานการรักษาให้ใช้เป็นยาคู่ จึงได้มีการปรับสูตรเป็นยาคู่ ซึ่งสามารถผลิตเองได้ กำลังขอขึ้นทะเบียน อย.โดยราคาอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อคอร์สรักษา 3 เดือน แต่ก็จะมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ถูกลง เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการดำเนินการจัดการให้โรคนี้หายไป ซึ่งเป็นไปตามสากลที่กำหนดว่า ในปี 2573 ไวรัสตับอักเสบซีต้องหมดไป เพื่อให้การเกิดโรคมะเร็งตับจากไวรัสตับอักเสบซีหมดไปด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยตับอักเสบซีมีประมาณ 4 แสนราย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 385 views