แรงงานคือปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการเปิดประเทศฟื้นเศรษฐกิจ หลังจากที่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษบกิจในหลายด้านต้องหยุดชะงัก หลายฝ่ายประเมินว่าการเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศมีแรงงานที่ยังขาดแคลนอีกไม่ต่ำกว่า 400,000-1 ล้านคน จำเป็นต้องนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความกังวลต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานต่างด้าว ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2563
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. สำนักข่าว The Reporters และสำนักข่าวชายขอบ ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ ปัญหาแรงงานข้ามชาติซับซ้อนหรือซ้ำซาก โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ พิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมให้ข้อมูลและคงามเห็นถึงแนวทางบริหารจัดการด้านแรงงานในภาวะที่การฟื้นเศรษฐกิจมีความจำเป็นไม่มากและน้อยไปกว่าการควบคุมโรค
สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ เปิดประเด็นให้เห็นต้นตอของการขาดแคลนแรงงานว่า ก่อนจะมีการระบาดโควิดนั้นแรงงานต่างด้าวในไทยเข้ามาแบบทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว และกัมพูชา หรือแรงงาน MOU เกือบทั้งหมด แต่เมื่อพาสปอร์ตหมดอายุจึงกลับไปทำหนังสือเดินทางแล้วเกิดการระบาดของโควิดในไทย แรงงานจำนวนมากไม่สามารถกลับเข้าไทยได้ และมีแรงงานที่อยากกลับประเทศ จึงมีการทยอยกลับเรื่อยๆ
"จากจุดนี้สถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน เกิดโอกาสของนายหน้าพอไทยขาดแคลนแรงงาน นายหน้าไปชักชวนให้มาทำงานในไทยมีการจ่ายค่าหัว โดยในพม่าเองก็มีสถานการณ์ปัญหาจากการเมืองอยากหนีความเดือดร้อนและยากจนตกเป็นเหยื่อนายหน้า รองลงมาคือกัมพูชาที่หนีความยากจนลดหลั่นลงมาคือลาว ซึ่งไม่ต่างจากคนไทยอีสานที่หนีความแห้งแล้งไปทำงานต่างประเทศจึงเป็นสาเหตุแรงงานตกเป็นเหยื่อนายหน้าเข้ามา" สุธาสินี กล่าว
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตัวเลขแรงงานกลับไปต่อพาสปอร์ตอยู่ประมาณเดือนละ 3 หมื่นกว่าคน เมื่อถึงช่วงวันที่ 1 เมษายนที่เริ่มมีการควบคุมการระบาดล็อกดาวน์ปิดประเทศยาวมาจนถึงวันนี้ดีมานด์หายไปมาก เมื่อแรงงานพม่่าหนีตายและหนีอดตายจากปัญหาในประเทศมาพร้อมเชื้อโควิด-19 แล้วลักลอบหลบซ่อนโดยเฉพาะที่ อ.มหาชัย
“จะเห็นได้ว่าปีที่แล้วอุตสาหกรรมเริ่มดีขึ้น ภาคการผลิตดีขึ้น ภาคการส่งออกของเราไม่ได้เลวร้ายเลย แต่มาปีนี้ดีมานด์แรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ 4 ส่วนหลักๆคือ 1.อุตสาหกรรม 2.ก่อสร้าง 3.เกษตรกร 4.บริการ ภาคอุตสาหกรรมพอโตจากการส่งออกแรงงานก็อยากกลับเข้ามา ภาคก่อสร้างเราอาศัยกัมพูชาเยอะและพม่า เราต้องรีบนำแรงงานกลับเข้ามาเพราะมีโครงการเมกะโปรเจคต์ค้างเยอะมาก ภาคเกษตรเดือดร้อนหนักเป็นซีซั่นเก็บเกี่ยวของแต่ละจังหวัด แต่ภาคบริการมีปัญหาเพราะปิดเมืองเจ้าของปิดกิจการจึงไม่มีคน จึงมีการจูงใจให้ลักลอบเข้ามา ตัวเลขประมาณ 5 แสนคนแต่ส่วนตัวผมว่าเกิน ถ้าไม่มีการระบาดรอบใหม่ เศรษฐกิจเดิน ผมว่ามีสิทธิขาดแคลนแรงงานถึง 1 ล้านคนรวมภาคเกษตรด้วย" รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ก็อธิบายถึงสาเหตุปัญหาใกล้เคียงกัน โดยกล่าวว่่า สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานมี 3 ช่วง คือ 1.ช่วงก่อนโควิดที่แรงงานกลับไปต่อใบอนุญาตทำงาน 2.ช่วงหลังโควิดประเทศล็อคดาวน์แรงงานไม่มีงานทำ และ3.ช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้วความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น
"ก่อนโควิดแรงงานกลับไปต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานส่วนหนึ่งเดินทางกลับไปดำเนินการเอกสารต่างๆบวกกับช่วงนั้นมีเทศกาลหยุดยาว คาดว่าแรงงานพม่าน่าจะมีประมาณ 60,000 คน รวมลาวกับกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 100,000 คนที่กลับไปช่วงนั้น ต่อมาคือช่วงหลังโควิดที่มีการล็อคดาวน์ทำให้แรงงานไม่มีมีงานและกลับย้านไปเป็นปัญหาที่ตามมาคือมีแรงงานหลุดระบบตัวเลขการจ้างงานช่วงนั้นก็ลดลง จนกระทั่งเดือน ส.ค.2563 เป็นต้นมาความต้องการแรงงานเปิด จริงๆ ความต้องการมีมาตั้งแต่ ส.ค.แล้วเพียงแต่มันไม่มากเท่านี้ มีการขยับตัวเข้ามาของแรงงานเป็นระยะ มีคนตั้งข้อสงสัยว่าช่วงนั้นทำให้เกิดโควิดระลอก2หรือไม่" อดิศร กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวอีกว่่า สิ่งที่ควรต้องทำ 3 ประการคือ 1.รักษาแรงงานที่อยู่ในนะบบ 2.ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ และ 3.ทำให้การทำงานถูกกฎหมายทำได้จริงเข้าถึงง่ายที่สุด
เมื่อมาตรการต่างๆ ผ่อนคลายลง กิจกรรมทางเศรษบกิจต่างๆ ได้รับการผ่อนปรนกลับมาดำเนินการได้ เมื่อความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นแต่มาตรการของรัฐยังไม่ชัดเจน กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำเข้าแรงงานสีดำ หรือแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเข้ามาก่อน
“ประเทศไทยมีปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมา 28 ปีแล้ว ทั้งเรื่องแรงงานหลุดระบบ เรื่องส่วย ซึ่งก็มีการพยายามแก้ปัญหามาแล้ว 29 ปีเช่นกัน เมื่อเปิดตรงนี้ก็ทำให้ข้างนอกอยากจะเข้ามาสู่การจดทะเบียนรอบนี้อีกด้วย เขาก็มีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจอยู่แล้วก็เป็นปัจจัยที่อยากจะเข้าสู่ประเทศเรา คิดว่ากระทรวงควรทำไปพร้อมกันทั้งเคลียร์ข้างในแล้วเปิดให้เข้าประเทศถูกกฎหมายที่กระทรวงทำช้าไปหรือเปล่า การทำ MOU ครั้งนี้เริ่ม 1 ธ.ค.ที่เข้าคิวกันอยู่จะได้คนไหม แล้วมันก็แพงด้วยค่าใช้จ่ายก็สูงจะทันต่อสถานการณ์ตรงนี้ไหม ที่บอกว่าซีลพรมแดนแต่ตลอดเวลา 29 ปีที่ผ่านมาเราซีลไม่ได้เพราะฉะนั้นเราต้องทำ 3 อย่างพร้อมกันคือเคลียร์ข้างใน เปิดให้เข้าประเทศถูกกฎหมายและซีลพรมแดน" อ.กิริยา กล่าว
ด้าน พิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กล่าวว่า สภาพขาดแคลนแรงงานจากโควิดล่าสุดมีตัวเลขอยู่ที่ราวๆ 4 แสนคน มติครม.28 ก.ย.2564 ขยายระยะเวลาขึ้นทะเลียนให้แรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ขออนุญาตทำงาน แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จเป็นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัวคือแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและให้แรงงานเข้าสู่ระบบ แก้ปัญหาแล้วควบคุมโรคไปด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่านายจ้างที่ประสงค์จะนำเข้าแรงงานอยู่ที่ราวๆ 4 แสนคน
"การทะลักของแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นความเข้าใจผิดของแรงงานต่างด้าวว่าเข้ามาแล้วจะขึ้นทะเบียนได้ จริงๆแล้วต้องเข้ามาก่อนวันที่ 28 ก.ย. MOU ติดขัดมาตรการควบคุมโรคเงื่อนไขยังไม่เปิดประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายยังคงเดิมที่เพิ่มขึ้นมาคือตรวจโควิดและการกักตัว วิธีการคือ 1.แรงงานยังไม่เดินทางเข้ามาให้ผู้ประกอบการแจ้งดีมานด์ที่สำนักจัดหางานโดยระบุว่าจะตรวจโควิดที่ไหนในกรณีติดเชื้อ ใช้กรมธรรม์คุ้มครองโควิดอย่างไร 2.แรงงานกำลังเข้ามาต้องตรวจ RT-PCR หรือ ATKกำหนด 72 ชั่วโมง ดูว่่าได้ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 หรือยัง ตรวจ namelist ขึ้นรถไปกักตัวตรวจ 6 โรคและโควิดอีกรอบถ้าพบเชื้อก็ทำการรักษา ถ้าไม่พบเชื้อให้กักตัว ถ้าฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็มให้กักตัว 7 วัน ถ้าฉีดมา 1 เข็มหรือยังไม่เคยฉีดให้กักตัว 14 วัน สำหรับคนที่ยังไม่เคยฉีดเราเตรียมวัคซีนไว้ 400,000 โดส หรือฉีดมาเข็มเดียวเราก็จะฉีดให้อีก 1 เข็ม" พิเชษฐ์ กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวอีกว่า ค่าใช้จ่ายในระหว่างที่แรงงานเข้ามากักตัวนั้นจะมีค่าตรวจโควิด 2 ครั้ง ครั้งละ 1,300 บาท รวม 2,600 บาท ค่าลงวีซ่า 1,000 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าประกันโควิด ไม่รวมกักตัวประมาณ 7,990 บาท ถ้ารวมกักตัวประมาณ 11,490-11,990 บาท แต่ถ้ากักตัว 14 วัน จะอยู่ราวๆ 15,000 บาท ขึ้นไป
ด้านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายพยายามเป็นธรรมมากที่สุดโดยทุกอย่างเท่าเดิมเพิ่มเติมคือการกักตัวเท่านั้น
"คุยกับกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่าถ้ารับวัคซีนมา2เข็มทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นว่าแรงงาน MOU ไม่มาเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ถ้าฉีด 2 เข็มกักตัว 7 วัน เอกชนประสานสาธารณสุขจังหวัดให้มีที่กักตัว เรียนว่าค่าใช้จ่ายกักตัวเป็นเรื่องที่ผมเบิกไม่ได้แต่วัคซีนผมขอได้ ถ้ากักตัวไม่มี PCRจะทำให้คนไทยเชื่อมั่น ก็ต้องตรวจ PCR เข้าประเทศตรวจครั้งที่ 1 อีก 7 วันตรวจอีกครั้งตรงนี้ค่าตรวจถูกลงแล้ว ดีกว่าโอนเงินไปให้ต่างด้าว 1-2 หมื่นบาทโดนจับก็เสียเงินเปล่า ผมพยายามสื่อสารไปให้ทางต่างประเทศทราบว่าเงินที่ได้รับจากนายจ้างมาก็สูญเปล่าถ้าโดนจับ ถ้าผมเป็นนายจ้างคำนวณแล้วจากวันที่1ธ.ค.นี้ อีกประมาณ 30 วัน ต้องทำประกันโควิด 4 เดือน ประมาณ 1,000 บาทรอเข้าประกันสังคม ตรงนี้ต้องช่วยกัน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
- 430 views