จับทิศสัดส่วนบุคลากรสาธารณสุข ความหลากหลายของสายงาน กับภาระงานที่ล้นหลาม อัตรากำลังการจ้างงานเพียงพอหรือไม่...รวมตรงนี้ ข้อมูลสัดส่วนบุคลากร ทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทวงสาธารณสุข ปี 63 คำนิยามการจ้างงานที่แตกต่าง กับการบรรจุข้าราชการที่เพราะอะไร ไม่เคยเพียงพอ!!
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดของคนในกระทรวงสาธารณสุขก็ว่าได้ นั่นคือ การบรรจุข้าราชการรุ่นปฏิบัติงานโควิด-19 ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานอย่างหนักหน่วงกับวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา ตั้งแต่การบรรจุรอบแรกกว่า 3 หมื่นอัตรา ที่ก็เกิดปมปัญหา ข้อวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่า การบรรจุที่ผ่านมาครอบคลุมบุคลากรปฏิบัติงานจริงมากน้อยแค่ไหน...
ล่าสุดเป็นประเด็นอีกกับการขยาย “การบรรจุข้าราชการรอบสอง” ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการสร้างขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะกลุ่มเก็บตกที่พลาดในครั้งแรก และครั้งนี้ได้มีการรวบรวมตัวเลขการบรรจุอีกครั้ง โดย “นพ.สุระ วิเศษศักดิ์” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ให้ข้อมูลกับทาง Hfocus ถึงความคืบหน้าว่า ขณะนี้ได้มีการสรุปตัวเลขที่จะเสนอขอการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิดจากแต่ละกรมเรียบร้อยแล้ว โดยจะเสนอจำนวน 27,809 อัตรา ซึ่งยังไม่รวมกับอัตราตำแหน่งว่างเดิมของกระทรวงสาธารณสุขมีอีกกว่า 9 พันอัตรา รวมแล้วประมาณกว่า 3.7 หมื่นอัตราครอบคลุม 71 สายงานจาก 78 สายงาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภารกิจหลัก (G1) กลุ่มภารกิจสนับสนุนวิชาการ (G2) และกลุ่มภารกิจทางบริหารจัดการ(G3) ซึ่งรวมแบคออฟฟิศ รวมไปถึงมีกลุ่ม G3(พิเศษ) ซึ่งเป็นสายงานจำเป็นต่อส่วนราชการ เช่น การพัสดุ ต้องมีข้าราชการประจำในการทำงาน เนื่องจากเป็นตำแหน่งเกี่ยวข้องกับกฎหมาย
โดยระหว่างนี้รอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาว่าการเสนอขอบรรจุอัตราข้าราชการครั้งนี้ จะเสนอผ่าน ก.พ.โดยตรง หรือเสนอผ่านทางคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งรายงานข่าวแว่วว่า จะทำให้แล้วเสร็จปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2565
อย่างไรก็ตาม การเสนอขอครั้ง ยังมีสายงานที่ไม่ได้ หรือไม่เข้าเกณฑ์ ซึ่งตรงนี้หากใครมองว่าตัวเองเข้าเกณฑ์ปฏิบัติงานโควิด และอยู่ในสายงานที่มีการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถยื่นอุทธรณ์มาในระหว่างนี้ได้..
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สรุปขอบรรจุขรก.โควิดรอบสอง 3.7 หมื่นรวมอัตราว่าง รอ รมว.สธ.พิจารณาเสนอ ครม.หรือ ก.พ.)
แฟ้มภาพกระทรวงสาธารณสุข
จากประเด็นดังกล่าว จึงไม่แปลกที่หากมีการบรรจุข้าราชการ หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ สัดส่วนค่าตอบแทนให้บุคลากร จะต้องมีปมดรามามาทุกครั้ง นั่นเพราะกระทรวงสาธารณสุข มีหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายสายงาน การจ้างงานก็ยังมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายเหมารายวัน รายคาบ ฯลฯ สาเหตุเพราะการปฏิบัติงาน การบริการประชาชนมีความหลากหลายและมากมายชนิดล้นหลาม เรียกว่าโหลดแล้วโหลดอีก ยิ่งคนหน้างาน ช่วงโควิดยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ด้วยประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการควบคุมการจ้างงาน การผลิตบุคลากรที่เหมาะสมกับภาระงาน และบริบทที่ควรจะเป็น โดยทำเป็นแผนที่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งตรงนี้กระทรวงฯมีการดำเนินการ แต่สุดท้ายการจ้างงานก็ยังมากล้น โดยใช้เงินบำรุง นั่นเพราะภาระงานมากขึ้นนั่นเอง จึงเป็นเรื่องท้าทายผู้บริหารกระทรวงว่า จะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
คราวนี้เราลองมาพิจารณาถึงสัดส่วนบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขว่า มีการดำเนินการอย่างไร..
**รายงานข้อมูลบุคลากรด้านสาธารณสุขประจำปีงบประมาณ 2563 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมข้อมูลบุคลากรทั้งหมด 10 กรมภายในกระทรวงสาธารณสุข แยกเป็นรายจังหวัด และราย 13 เขตสุขภาพ ตามตำแหน่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 17 ตำแหน่ง ตำแหน่งพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ตลอดจนลูกจ้างประจำ รวมทั้งประเทศในสังกัดกระทรวงฯ ดังนี้
1.แพทย์ มีจำนวน 19,370 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 19,232 คน ,พนักงานราชการ 0 คน, ลูกจ้างชั่วคราว 112 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 26 คน
2.ทันตแพทย์ มีจำนวน 5,581 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 5,578 คน ,พนักงานราชการ 0 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 3คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 0 คน
3.เภสัชกร มีจำนวน 10,430 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 9,988 คน ,พนักงานราชการ 385 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 6 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 51 คน
4.พยาบาลวิชาชีพ มีจำนวน 117,942 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 115,944 คน ,พนักงานราชการ 59 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 1,289 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 650 คน
5.พยาบาลเทคนิค มีจำนวน 630 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 620 คน ,พนักงานราชการ 0 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 10 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 0 คน
6.นักเทคนิคการแพทย์ มีจำนวน 4,481 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 4,621 คน ,พนักงานราชการ 72 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 63 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 85 คน
7.นักรังสีการแพทย์ มีจำนวน 1,553 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,528 คน , พนักงานราชการ 8 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 4 คนและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 13 คน
8.นักวิชาการคอมพิวเตอร์ มีจำนวน 2,159 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 792 คน ,พนักงานราชการ 730 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 49 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 588 คน
9.นักกายภาพบำบัด มีจำนวน 2,862 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 2,568 คน ,พนักงานราชการ 53 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 66 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 175 คน
แฟ้มภาพกระทรวงสาธารณสุข
10.นักจิตวิทยา มีจำนวน 386 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 290 คน ,พนักงานราชการ 53 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 10 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 33 คน
11.นักวิชาการสถิติ มีจำนวน 228 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 108 คน ,พนักงานราชการ 62 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 1 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 55 คน
12.นักวิชาการสาธารณสุข มีจำนวน 35,380 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 26,016 คน ,พนักงานราชการ 715 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 3,447 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 5,202 คน
13.นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีจำนวน 1,600 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,010 คน,พนักงานราชการ 135 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 5 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 450 คน
14.เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข มีจำนวน 6,328 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 5,163 คน ,พนักงานราชการ 4 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 372 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 789 คน
15.เจ้าพนักงานเวชสถิติ มีจำนวน 1,989 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,315 คน ,พนักงานราชการ 43 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 261 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 370 คน
16.เจ้าพนักงานสาธารณสุข มีจำนวน 13,169 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 11,576 คน ,พนักงานราชการ 106 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 163 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 1,324 คน
17.แพทย์แผนไทย มีจำนวน 2,901 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 1,117 คน ,พนักงานราชการ 79 คน , ลูกจ้างชั่วคราว 378 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 1,327 คน
*** นอกจากนี้ ยังมีลูกจ้างประจำ แบ่งเป็น
1.ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 130 คน 2.ผู้ช่วยทันตแพทย์ 42 คน 3.ผู้ช่วยเภสัชกร 12 คน 4.พนักงานกายภาพบำบัด 95 คน 5.พนักงานการแพทย์และรังสีเทคนิค 114 คน 6.เจ้าพนักงานขับรถยนต์ 1,729 คน 7.พนักงานช่วยการพยาบาล 108 คน 8. พนักงานช่วยเหลือคนไข้ 6,767 คน
9.พนักงานประจำห้องทดลอง 44 คน 10.พนักงานประจำห้องยา 222 คน 11.พนักงานเภสัชกรรม 390 คน 12.พนักงานสุขภาพชุมชน 81 คน 13.พนักงานห้องปฏิบัติงาน 102 คน 14.พนักงานห้องผ่าตัด 114 คน 15.พนักงานห้องเฝือก 35 คน
ทั้งนี้ สำหรับคำนิยามการจ้างงานในสังกัดกระทรวงฯ
ข้าราชการ หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนในกระทรวง กรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ลูกจ้างประจำ หมายถึง บุคคลที่ปฏิบัติงานโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง โดยนายจ้างตกลงไว้เพื่อปฏิบัติงานอันมีลักษณะเป็นงานประจำขององค์กรนั้นๆ
พนักงานราชการ หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้าง โดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อเป็นพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการนั้น
พนักงานกระรทวงสาธารณสุข หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้าง โดยได้รับค่าตอบแทนจากเงินบำรุงของหน่วยบริการ
ลูกจ้างชั่วคราว หมายถึง ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน และรายชั่วโมง ที่จ้างปฏิบัติงานมีลักษณะชั่วคราว และหรือมีระยะเวลาในการกำหนดเวลาจ้าง แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาในการจ้างต้องไม่เกินปีงบประมาณและไม่มีการเพิ่มค้าจ้างประจำปี
ทั้งหมดเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งของบุคลากรสาธารณสุข ยังต้องติดตามว่า หลังจากนี้การพัฒนาการสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานในกระทรวงฯ จะมีรูปแบบอย่างไรต่อไป...
แฟ้มภาพกระทรวงสาธารณสุข
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2490 views