จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -1 ก.ย. 64 พบผู้ป่วย 6,485 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุพบมากที่สุดคือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา อายุ 15-24 ปี โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า รวมถึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัย
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้ จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโควิด 19 ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกร่วมด้วย จะทำให้อาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็วและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กลุ่มที่ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตส่วนใหญ่ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และกลุ่มเด็กที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการสงสัยที่อาจจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดกระบอกตา หรือโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่นๆ ให้เข้ารับการวินิจฉัยที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หากจำเป็นให้ใช้เฉพาะยาพาราเซตามอล และควรเพิ่มการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
- เก็บบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์
- เก็บขยะ เศษภาชนะต่างๆ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ และเน้นการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง
ซึ่งจะป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
- 459 views