ข้อถกเถียงเรื่องวัคซีนต้านโควิดในวงการแพทย์ไทยในไตรมาสสอง 2564
วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
7 กรกฎาคม 2564
อ้างอิงรูปภาพจาก : BBC NEWS
เมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรกโควิดระลอกสองเพลาลงนิดหน่อย ยังไม่ทันหายใจทั่วท้อง เริ่มเมษาไตรมาสที่สองของปี เราก็มีการระบาดใหญ่ทั่วประเทศ ระลอกสามนี้เป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเขาบอกให้เรียกเป็นชื่อตัวเลข B 1.1.7 หรือ แอลฟา ผมเองก็ต้องใช้เวลาท่องอยู่พักนึงว่า อังกฤษ มีตัว อ.อ่าง ซึ่งอยู่ใน แอลฟา ส่วนอินเดีย มีตัว ด.เด็ก ซึ่งอยู่ในเดลต้า และแอฟริกาเป็นตัวที่เหลือที่สำคัญที่สุดชื่อเบต้า ไม่รู้จะหาเหตุผลมาช่วยจำยังไง เรียกบ่อย ๆ ก็จะจำได้เอง
เชื้อสายพันธุ์แอลฟาดุมาก เริ่มต้นจากชายแดนกัมพูชา แพร่เข้าไปแหล่งเริงรมย์กลางคืนกลางกรุง เชื้อในเมืองกระจายออกไปสู่ชุมชน ตลาด เรือนจำ และโรงงาน ภายในไตรมาสเดียวมีคนไทยติดเชื้อไปสองแสนกว่าคน ตายไปสองพันกว่าคน ยอดรายวันพุ่งขึ้นจากวันละร้อยกว่าคนเมื่อต้นไตรมาสกลายเป็นวันละราวหกพันคนในวันนี้ พอปลายไตรมาส เชื้อสายพันธุ์เดลต้าก็มารับไม้ผลัดวิ่งต่อ โดยเจาะเข้าทางชายแดน พม่า และ มาเลเซีย เข้าจังหวัดชายแดนใต้ ตามมาด้วยเชื้อเบต้าซึ่งดูเหมือนว่าจะระบาดมาจากมาเลเซียเข้าชายแดนใต้เหมือนกัน ทั้งโลกซ้ำกรรมซัดพิบัติเป็น ไทยเราจะไปรอดไหม
ในพื้นที่ซึ่งสะกัดการระบาดไว้ไม่อยู่อย่างเช่นในเมืองหลวงและชายแดนใต้ การติดเชื้อเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยทั้งหนักและเบาก็เพิ่มขึ้น รายที่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ถ้ามีเงินจ่ายรัฐก็จัดกักตัวในโรงแรม ถ้าไม่มีเงินก็ไปอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ผมเคยเห็นรูปถ่ายโรงพยาบาลสนามในสหรัฐช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลสนามของไทยในอีกหนึ่งร้อยปีต่อมาก็ดูเหมือนไม่ต่างกันเท่าไหร่ ไม่เคยนึกเลยว่าโควิดจะรุนแรงได้ถึงขนาดนี้
ส่วนที่หนักหนามาก ๆ คือ ผู้ป่วยหนักซึ่งต้องเข้าไอซียู ซึ่งสะสมเข้าไปเรื่อย ๆ จน หมอจากโรงพยาบาลในเขตระบาดร้องขอความเห็นใจ และคุณหมอบอกจัดเจนว่าถึงเวลาที่จะต้องจัดสรรผู้ป่วยว่าใครจะได้และไม่ได้รับการรักษา เพราะเตียงและเครื่องไม้เครื่องมือตลอดจนกำลังคนมีอยู่อย่างจำกัด ผู้ป่วยทางบ้านจำนวนหนึ่งรอคิวเข้ารับการรักษาไม่ไหวก็จากโลกไป
กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนให้ผู้ป่วยอาการไม่มากแยกตัวดูแลตัวเองที่บ้านที่เรียกว่า home isolation ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะแพร่โรคออกไปสู่ชุมชนและเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในชุมชนให้สูงขึ้นไปอีก ผมคุยกับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ทีเล่นที่จริงว่า ตอนนี้เราเตรียมแผนให้รักษากันเองที่บ้านแล้ว แสดงว่าป้อมปราการสาธารณสุขที่เราเคยภูมิใจว่าเข้มแข็งได้แตกสลายแล้ว ถ้าเหตุการณ์เลวลงกว่านี้แล้วรัฐบาลไม่ล็อคดาวน์ และไม่มีวัคซีนมาฉีดให้ทันและมากพอ เราก็ต้องถอยไปเตรียมอีกแผนหนึ่ง คือ แผนการจัดการศพ หรือ funeral phase เมรุตามวัดต่าง ๆ ต้องจัดคิวให้ยุติธรรม สวดพระอภิธรรมให้รวบรัด สำหรับทั้งผู้เสียชีวิตจากโควิดและเสียชีวิตจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาเพราะเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล ถึงตอนนั้นไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะต้องล็อคดาวน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ณ เวลานี้ สิ่งที่จะบอกว่าเราจะถึง funeral phase หรือเปล่า ถึงช้าหรือเร็ว คือ ผลของการล็อคดาวน์หรือที่เรียกว่า bubble and seal คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมของพื้นที่การระบาดอย่างเมืองหลวง ปริมณฑล และจังหวัดภาคใต้ ตอนนี้ปิดโรงงานทั้งติดเชื้อและไม่ติดเชื้อมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว ถ้าจำนวนผู้ป่วยในชุมชนก็ยังเพิ่มขึ้นภายในสัปดาห์ที่สามที่สี่ และ รัฐบาลยังกัดฟันคงทำเหมือนเดิม เราก็คงต้องไปล็อคดาวน์กันในช่วง funeral phase เพราะตามหลักฐานทั่วโลก ถ้าล็อคดาวน์ปิดสนิทแล้ว การระบาดลดแน่ ๆ ความตายลดลงแน่ แต่ถ้าไม่มีวัคซีน พอเปิดจากล็อคดาวน์ให้ออกมาใช้ชีวิตปรกติ โรคก็ระบาดอีก ตายเพิ่มขึ้นอีก ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่การฉีดวัคซีน ซึ่งเรื่องนี้หมอทุกคนรู้ดี
แต่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าหมอจะแตกเป็นสองกระแสที่ขัดแย้งกันในความคิดเรื่องวัคซีน หมอรุ่นใหม่ประมาณเจ็นวาย หรือ เจ็นเอ็กซ์ก็ไม่ทราบ อายุสักราวสี่สิบกว่า ๆ เห็นว่ารัฐบาลทำผิดพลาดที่จัดหาวัคซีนมาไม่ได้มากพอ ทำให้เกิดโรคระบาดจนในที่สุดคนไทยต้องป่วย และตาย และเศรษฐกิจเสียหายอย่างมาก ที่ไม่พอใจประการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ หมอรุ่นเก่า หรือ รุ่นเบบี้บูม อายุใกล้ ๆ เจ็ดสิบเป็นส่วนใหญ่ ทำไมไปแสดงความใกล้ชิดและสนับสนุนรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข ข้อข้องใจทางเทคนิค คือ ทำไมสนับสนุนวัคซีนจีนจนออกนอกหน้า และถึงกับมีการสั่งจองวัคซีนจีนเพิ่มขึ้นมากมายไปถึงปีหน้า
ก่อนอื่น ผมขอออกตัว (disclaim) ก่อนว่าเป็นรุ่นเบบี้บูม แต่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลเป็นพิเศษ กระทรวงสาธารณสุขเชิญให้เข้าร่วมกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีในเรื่องโควิดในฐานะที่เป็นนักระบาดวิทยา และอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ล่อแหลมทางการเมืองและด้านโรคระบาด ผมก็ตอบรับเพราะจะได้ใช้ความรู้และความเห็นเข้าเสนอเข้าไปให้คณะกรรมการพิจารณา ผมไม่ได้เข้าไปในคณะกรรมการวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดซื้อจัดหาหรือการแจกจ่าย และบอกเพื่อนกรรมการชุดเดียวกันตลอดเวลาว่าเราเสนออย่างเดียว ไม่ต้องทำตัวเหมือนผู้รับผิดชอบ อย่าไปครอบงำเขา โดยเฉพาะอดีตข้าราชการชั้นสูงทั้งหลายต้องร้องเพลงของ วารณี สุนทรีย์สวัสดิ์ในวรรคที่ว่า “เขาคือปัจจุบัน ส่วนฉันนั้นเป็นอดีต” ต้องปล่อยให้ข้าราชการประจำกับนักการเมือง ซึ่งเป็นเหมือนน้อง ๆ หรือลูกศิษย์เขาจัดการตัดสินใจกันเอง เขาไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยมันก็แล้วแต่เขา แล้วแต่บุญแต่กรรมของประเทศชาติ
ผมตกลงกับคนที่มาเชิญว่าเรื่องที่ผมเสนอส่วนใหญ่ผมจะเอามาเขียนบทความแจกจ่ายไปในโซเซียลไม่ปิดบังอย่างไร คงไม่มีใครถือสา เพราะไม่เห็นมีปฏิกริยาอะไร ที่เล่ามานี่เพื่อออกตัวว่าผมไม่ได้เข้าข้างใครนะครับ
ประเด็นที่หมอเจ็นเอกซ์-วายข้องใจ คือ ความแคลงใจในประสิทธิผลของวัคซีนจีน โดยเฉพาะเมื่อมีผลการศึกษาว่ากระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้ไม่ดีเท่าวัคซีนอื่น ๆ อันนี้ในฐานะครูทางระบาดวิทยาคอยแนะนำคนรุ่นใหม่ บอกได้ว่าในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ วัคซีน Sinovac ป้องกันโควิดในไทยได้ดีน่าพอใจครับ การศึกษาที่ภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงรายให้ผลสอดคล้องกันว่า Sinovac 2 เข็มป้องกันทั้งผู้สัมผัสโรคที่มีความเสี่ยงสูง และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลไม่ให้ติดเชื้อได้ถึง 90% และ 82% ตามลำดับ ถ้าไม่มีวัคซีนป่านนี้คนเหล่านี้คงแย่ไปแล้ว นอกจากนี้ งานวิจัยที่อินโดนีเซียในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ก็ได้ข้อสรุปไปเหมือนกัน คือ Sinovac ที่ประเทศนั้นใช้ป้องกันการป่วยแบบมีอาการได้ 94% ป้องกันการป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 96% และป้องกันการตายจากโควิดในกรุงจาการ์ต้าได้ 98% ซึ่งดีมาก
ดังนั้น น้อง ๆ ลูก ๆ เจ็นเอ็กซ์เจ็นวายครับ สองไตรมาสแรกของปีนี้นับเป็นผลงานทองของ Sinovac ในการช่วยพันธมิตรของจีนในอาเซียนสองประเทศ
แต่ผมเราก็ไม่ควรวางใจพึ่งพิงวัคซีนจีนมากจนเกินไป เพราะประเทศจีนเองเพิ่งเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ คือ วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเดลต้าได้เพียง 22% ซึ่งต่ำมากและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ก็ป้องกันการตายได้ 92% อย่างไรก็ตาม มีผู้ติดเชื้อในการศึกษาครั้งนี้เพียง 68 ราย เพราะมีการล็อคดาวน์อย่างทันทีทันควัน ต้องติดตามกันต่อไปว่าวัคซีนจีนซึ่งระดมฉีดกันทั่วประเทศถึงวันละ 2 ล้านโดส จะป้องกันจีนจากเดลต้าได้ไปนานเท่าไร จีนจะแก้เกมเดลต้าได้อย่างไร
ตอนนี้เรายังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีน Sinovac ว่าป้องกันเชื้อเดลต้าในไทยได้ดีเพียงไร คงต้องรอไปถึงไตรมาสสามและสี่ เป็นที่เชื่อกันว่าวัคซีนจีนน่าจะลดการตาย(และป่วยหนัก)ได้ แต่คงป้องกันการติดเชื้อได้ไม่มาก
ขณะนี้มีประชาชนกว่าแสนคน อาจจะนำโดยคุณหมอรุ่นใหม่ เข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีน m-RNA จากสหรัฐมาใช้แทนวัคซีนจีน และกล่าวโจมตีคุณหมอรุ่นเบบี้บูมว่าเชียร์วัคซีนจีนมากจนออกหน้า เรื่องนี้ผมไม่พยายามติดตามรายละเอียดมากนักเพราะไม่อยากเข้าไปสู่ความเครียดโดยไม่จำเป็น ผมยังจำคำพูดของท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองได้ว่า “ลางเนื้อชอบลางยาไม่ว่าได้ ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่”
ตอนนี้ถ้าทุกคนมีข้อมูลเท่ากันไม่กังขาว่าวัคซีนแต่ละชนิดมีจุดดีจุดอ่อนอย่างไร ผมสังเกตว่าหมอเบบี้บูมอย่างน้อยส่วนหนึ่งเลือกวัคซีนเชื้อตาย เพราะคิด(หลงผิดหรือเปล่าไม่ทราบ)ว่าตัวเองแก่แล้วเสี่ยงไม่มาก ไม่อยากได้สารพันธุกรรมของไวรัสหรือวัคซีนเข้าไปในเซลของตนเอง ส่วนหมอเจ็นเอ็กซ์และวายส่วนใหญ่รู้สึกเสี่ยงต่อโควิดมากกว่าลุงหมอ ก็อาจจะต้องการวัคซีน m-RNA ซึ่งเป็นนักเสี่ยงประเภท high risk, high return (กล้าได้กล้าเสีย) หมอสองกลุ่มนี้ต่างกันด้วยรุ่น (generation หรือ birth cohort) และวัย(age) ซึ่งมีผลต่อฮอร์โมนซึ่งส่งผลต่อไปยังระบบประสาทความคิดที่ต่างกัน ความแตกต่างเหล่านี้เข้าใจได้
ผมอยากให้หมอทั้งสองฝ่ายหันมาคุยกันดี ๆ เราคงเห็นด้วยกันหลายอย่างแล้ว วัคซีนจีนก็ไม่ได้เลวร้ายมาก แต่ก็อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาสายพันธุ์เดลต้า เราควรช่วยกันหาวัคซีน m-RNA มาใช้ในประเทศไทยมากหน่อย
รัฐบาลเหมือน bread winner หรือ คนที่ต้องไปแย่งขนมปัง(วัคซีน m-RNA) กลับมาเลี้ยงครอบครัว หาได้แต่วัคซีนหม่านโถวจากจีน ทำให้เราต้องกินแต่หม่านโถวอีกหลายเดือนในปีหน้า เรื่องพวกที่ปรึกษาเบบี้บูมก็ไม่รู้และตอบไม่ได้หรอกครับว่าทำไมรัฐบาลถึงแทงม้าตัวนี้ เดี๋ยวคนรับผิดชอบเค้าจะมาตอบเอง นอกจากเข้าชื่อกันแล้วถ้าหมอสองเจ็นทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ลองไปร้องเรียนต่อสภาหรือศาลก็ได้ หรือจะมีเจ็นแซดจะแสดงพลังหรือบนถนนก็แล้วแต่จะเลือก หกไตรมาสที่ผ่านมากไม่มีหลักฐานว่าการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่โล่งและสวมหน้ากากจะนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด แต่ไตรมาสใหม่มีสายพันธุ์เดลต้าการชุมชุมจะเสี่ยงเพียงไรก็ยังไม่ทราบ
สุดท้ายนะครับ โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา “เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” มีความปรารถนาดีและท่าทีที่ดีต่อหมอต่างรุ่นมากหน่อย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยืดหยุ่นซึ่งกันและกันมากขึ้น ถ้ามีความขัดแย้งทางวิชาการก็ควรจะมีวิธีการหาข้อสรุปร่วมกัน ประชาชนจะได้ไม่สับสนครับ
- 112 views