ศบค.เผยโควิดคลัสเตอร์ใหม่ในกทม. พบเขตบางนา แคมป์คนงานก่อสร้าง เขตสาธรติดเชื้อในชุมชน ขณะที่จ. ฉะเชิงเทรา พบติดเชื้อในโรงงานชำแหละไก่ พบมีการอาศัยอยู่ร่วมกันในหลายเชื้อชาติ ขณะนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหารือเข้มมาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับสินค้าก่อนไปสู่ผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,485 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,475 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 57 ราย ติดเชื้อจากเรือนจำ 1,953 ราย สะสมทั้งหมด 159,792 ราย เฉพาะระลอกเดือนเม.ย.64 สะสม 130,929 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย สะสม 1,031 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 3,101 ราย ยังเหลือรักษาอยู่ 50,416 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล(รพ.) 20,837 ราย รพ.สนามและอื่นๆ อีก 29,579 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,233 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เมื่อแยกเฉพาะในกรุงเทพฯ พบ 1,356 ราย ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินพัน ปริมณฑล 5 จังหวัด พบ 757 ราย และจังหวัดอื่นๆ ไม่รวมในเรือนจำ อีก 3,475 ราย ที่ค่อนข้างมีการแพร่ระบาดในหลายจังหวัด" พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เมื่อจำแนกผู้ป่วยรายใหม่ 10 จังหวัดที่พบมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 1,356 ราย เพชรบุรี 555 ราย ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลกทรอนิกส์ เป็นชาวอินเดีย และจีน, สมุทรปราการ 358 ราย พบในโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป มีคนงานทั้งชาวไทยและเมียนมา พบผู้ติดเชื้อในชุมชน ตลาดสำโรง ตลาดเคหะบางพลี และคอนโดมิเนียม, สระบุรี 327 ราย พบในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ปทุมธานี 21 ราย พบในตลาดแอร์ โรงงานแปรรูปไก่ในอ.ลำลูกกา, นนทบุรี 90 ราย, ตรัง 76 ราย ในโรงงานผลิตถุงมือทางการแพทย์ และมีการแพร่ระบาดในชุมชนอย่างต่อเนื่อง, ชลบุรี 62 ราย พบมากในชุมชนบางทราย เป็นแรงงานชาวไทย เมียนมา และกัมพูชา ตลาดสดใน อ.ศรีราช, ฉะเชิงเทรา 62 ราย ในโรงงานชำแหละไก่ ลักษณะโรงงานอาศัยอยู่ร่วมกันในหลายเชื้อชาติ และสมุทรสาคร 58 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม. พบรายใหม่ 1,356 ราย ที่พบในระบบเฝ้าระวังและบริการในรพ. ส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย 402 ราย ต่างด้าว 127 ราย ขณะที่ การคัดกรองเชิงรุกในชุมชน โรงงาน สถานประกอบการ เป็นคนไทย 226 ราย ต่างด้าว 601 ราย
ส่วนคลัสเตอร์ในกทม. พบใหม่คือ เขตบางนา แคมป์คนงานก่อสร้าง และเขตสาทร ติดเชื้อในชุมชน และมีหลายคลัสเตอร์ที่สถานการณ์ดีขึ้น บางจุดไม่พบผู้ป่วยเกิน 14 วัน เช่น ประเวศ หนองจอก ดอนเมือง เป็นต้น
ส่วนเคสที่ยังไม่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ ได้แก่ พญาไท วังทองหลาง ลาดกระบัง บึงกุ่ม สะพานสูง คันนายาว พระโขนง สายไหม ราษฎร์บูรณะ ภาษีเจริญ บางบอน หนองแขม บางขุนเทียน ธนบุรี จอมทอง บางกอกใหญ่และตลิ่งชัน อย่างไรก็ตาม จิสด้า นำเสนอแผนที่ความหนาแน่นของตลาดใน กทม. ทั้งหมด 486 แห่งใหญ่ พบว่า พื้นที่ระบาดไข่แดง ยังอยู่ในส่วนกลางของกทม. โดยที่ประชุมศบค. ขอให้ต้องระดมตรวจคัดกรองเชิงรุกต่อไป และเฝ้าระวังในส่วนที่ยังไม่มีการระบาด
"การระบาดเขตห้วยขวาง ที่กทม.รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ค. และ ศบค. ได้นำเสนอเมื่อวาน(30พ.ค.) ซึ่งกทม. ได้คัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ตลาดด้วย แต่ตัวเลขส่วนใหญ่ยังมาจากชุมชนโรงปูนและแคมป์ก่อสร้าง ไม่ใช่ในตลาดห้วยขวาง จึงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และย้ำว่าตลาดในชุมชนของท่าน ควรได้รับความร่วมมือจากประชาชน เจ้าของตลาด พ่อค้าในตลาด ช่วยกันตรวจสอบตลาดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความเชื่อมั่น ผู้ใช้ตลาดก็ดูแลตัวเองสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ตลาดเองก็ต้องมีการคัดกรอง มีการบันทึกบัญชีผู้ค้า ประเมินตัวเองผ่านเว็บไซต์ Thai stop COVID19" พญ.
ทั้งนี้ ที่ประชุมศบค.หารือกันเรื่องการติดเชื้อในโรงงานผลิตอาหาร เช่น โรงงานชำแหละไก่ ที่พบในจ.ฉะเชิงเทรา สระบุรี และล่าสุดยังพบที่จ.ปทุมธานี จึงมีการตั้งข้อสังเกตทบทวนหาปัจจัยร่วม เช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่าพนักงานพักในหอเดียวกัน ทำให้โรงงานที่ 1 ก็แพร่ไปโรงงานที่ 2 รวมถึงผู้ดูแลคนงาน ที่พาแรงงานจากโรงงานที่ 1 ไปแห่งที่ 2 จึงต้องไปดูมาตรการเว้นระยะห่าง การดูแลคนงานมากขึ้น ทั้งนี้ จะต้องมีการหารือระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหามาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับสินค้าก่อนไปสู่ผู้บริโภคด้วย
“อย่างที่เรียนย้ำว่า บุคลากรแพทย์ทำงานเหนื่อย มีความเสี่ยง จึงอยากให้ทุกท่านตระหนักความสำคัญ ดูแลตัวเอง ขอให้ประชาชนช่วยกันปกป้องบบุคลากรแพทย์ ด้วยการไม่ปกปิดข้อมูล เพื่อให้สถานการณ์ดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” พญ.อภิสมัย กล่าว
- 6 views