อธิบดีกรมการแพทย์ เผยขณะนี้มีเตียงไอซียูสำรอง 5 วันในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุดร่วมเอสซีจี สร้างห้องไอซียูต่อขยายจาก รพ.ราชวิถี ใช้เวลาเพียง 7 วัน รองรับผู้ป่วยโควิด19 ย้ำสร้างสถานที่ไม่ยาก แต่ยากตรงบุคลากรมาดูแล ชี้ใช้วิธีสลับหมุนเวียน เป็นพยาบาลชำนาญการมาทำ พร้อมเทรนพยาบาลใหม่
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการจัดสร้างห้องไอซียู โควิด ส่วนต่อขยายแบบด่วนเสร็จภายใจ 7 วัน ว่า สำหรับสถานการณ์โควิดระบาดในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยตึงขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญเมื่อพบผู้ป่วยต้องแยกออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด ยิ่งมีการค้นหาเชิงรุก เมื่อเจอต้องรีบพาเข้าการรักษา เพราะเมื่อยิ่งนานอาการยิ่งเพิ่มขึ้นกลายเป็นสีเหลืองได้ แต่หากเข้ารับการรักษาเร็วก็จะไม่ขึ้นเป็นสีเหลือง แต่ที่ผ่านมาเขียวเพิ่มเป็นสีเหลืองเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการ ข้อมูลเดือน มี.ค. 2563 มีเตียง 1,059 เตียง แต่เมื่อเดือน พ.ค.2564 เพิ่มเป็น 26,787 เตียง เพิ่มขึ้น 25 เท่า ตรงนี้มาจากการขยายเตียงเพิ่มขึ้น ทั้งจากโรงแรมมาเปลี่ยนเป็นฮอสพิเทล มีการทำ รพ.สนามในสถานที่ต่างๆ ซึ่งทุกเครือข่ายพยายามเบ่งเตียงเต็มที่ และล่าสุดขณะนี้มีการขยายเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลือง ซึ่งไม่มีอาการแต่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งควบคุมอาการได้ โดยกรณีนี้สามารถรักษาที่ฮอสพิเทลได้ อย่างคนไข้สีเหลืองอ่อนๆ ก็จะนอนฮอสพิเทศ นอกจากนี้ ในกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการเพิ่มมากขึ้น เรียกว่า เหลืองเข้มแทบเป็นสีแดงอ่อนๆ ยังไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็จะส่งรักษารพ. ซึ่งมีสถาบันประสาทวิทยาเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ กรณีผู้ป่วยสีเหลือง สธ.ยังขยายเตียงรองรับผู้ติดเชื้อในกทม. ด้วยการเปิด รพ.บุษราคัม ที่เมืองทองธานี ในวันที่ 14 พ.ค.2564
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีห้องไอซียู (ICU) หากคำนวณคนไข้วันละประมาณ 1 พันคน ต้องมีเตียงไอซียูวันละ 33 เตียง เพราะมีคนไข้ 3% ต้องการไอซียู ปัจจุบันมีเตียงไอซียูทั้งรัฐและเอกชนประมาณ 100 กว่าเตียง หากไม่มีคนไข้ออกก็จะมีเตียงสำรองได้ 5 วันในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ดังนั้น กรมการแพทย์ สธ. จึงเตรียมพร้อมกรณีผู้ป่วยไอซียูเพิ่มขึ้น โดยร่วมกับทางเอสซีจี ในการสร้างไอซียูส่วนต่อขยายภายใน 7 วัน
“เบื้องต้นไอซียูส่วนต่อขยายจะมีประมาณ 10 เตียง แต่ถ้าจำเป็นก็จะเป็น 30 เตียง โดยวันนี้(13 พ.ค.) จะเปิด 4 เตียงของ รพ.ราชวิถี เพื่อให้สอดคล้องกับบุคลากร พยาบาลชำนาญการที่มาช่วย นอกจากนี้ก็มีการเตรียมที่รพ.นพรัตนฯ เช่นกัน จริงๆมีอีกหลายที่ สถานที่ไม่ยาก แต่คนมาช่วยจะยากมาก เพราะต้องอาศัยบุคลากรที่ชำนาญการเป็นพิเศษ จึงต้องขอฝากพี่น้องประชาชน เราต้องช่วยกันเข้มมาตรการป้องกันโรค เพราะหมอพยาบาล บุคลากรทำงานเต็มที่ทั้งหมด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการนำแพทย์มาสลับการช่วยเหลือที่ รพ.บุษราคัมเช่นกัน ซึ่งก็จะมีการหมุนคนข้างนอกมาช่วย เพราะคนทำงานนานๆ ก็หมดแรง เหนื่อยล้าเช่นกัน
ด้าน นพ.พัทธวุฒิ จันทูปมา นายแพทย์ชำนาญการกลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ราชวิถี กล่าวว่า เมื่อเปิดไอซียู รองรับผู้ป่วยโควิดอย่างเต็มที่ ก็จะเพิ่มมาประมาณ 10 เตียง อย่างไรก็ตาม กรณีการดูแลผู้ป่วยโควิดอาการหนัก 1 ราย ต้องมีพยาบาลขึ้นเวรมาดูแล 1 คน ดังนั้น ทั้งวันต้องมีพยายาบาล 10 คนต่อผู้ป่วย 10 ราย และพยาบาลที่มาดูผู้ป่วยหนัก ต้องเป็นพยาบาลที่มีประสบการณ์ ตรงนี้ก็ค่อนข้างหนัก ซึ่งทางรพ.ราชวิถี ได้เรียกคนจากพยาบาลที่ปฏิบัติงานไอซียูแผนกอื่นๆ เข้ามาช่วยตรงนี้ จะเห็นได้ว่า 7 วันเราสร้างไอซียูเสร็จแล้ว อุปกรณ์ต่างๆ มีหมด แต่สิ่งสำคัญบุคลากรต้องสร้างขึ้น ซึ่งก็ต้องพยายามเต็มที่
“สำหรับการเตรียมพร้อมระบบความปลอดภัยต่างๆ ได้มีกระบวนการเทสระบบ ทั้งระบบความดันลบ เราต้องมีการเทสระบบว่า ปลอดภัย ใช้งานได้จริง ซึ่งต้องขอบคุณระบบทางเอสซีจี มีระบบป้องกันควบคุมโรคได้ดี เพราะเราต้องให้บุคลากรปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาเรามีไอซียู 69 ห้อง ปัจจุบันเต็มหมดแล้ว โดยส่วนขยายนี้จะเพิ่มเข้ามาอีก 10 เตียง แต่วันนี้(13 พ.ค.) เปิด 4 ห้องก่อน โดยเราให้พยาบาลชำนาญการเข้ามาช่วย และให้พยาบาลชำนาญการน้อยกว่าไปทำในจุดอื่นๆ และต้องช่วยเทรนกันไปก่อน เพราะนี่เป็นภาวะฉุกเฉินที่ช่วยกันทั้งหมด”นพ.พัทธวุฒิ กล่าว
- 115 views