“อนุทิน” ลั่นเจรจาวัคซีนผู้แทนบ.ไฟเซอร์ ย้ำชัดต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ไม่ปิดกั้นมีเจรจาอีกหลายเจ้า ขณะที่อธิบดี คร.เผย 3 แนวทางการเจรจาวัคซีนโควิดเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ครอบคลุมครบ 100 ล้านโดสให้คนไทยทุกคน ทั้งอภ.เจรจาเพิ่ม ทั้งหอการค้าหนุงงบฯให้ รบ. ซื้อฉีดกลุ่มโรงงาน ส่วน รพ.เอกชนขอจัดซื้อเอง
เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า การประชุมเป็นไปด้วยดี ทำความเข้าใจกัน เราก็บอกให้เขาทำข้อเสนอมาให้โดยเร็วที่สุด อย่างวันนี้ได้คุยกับผู้จัดการบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งเราคุยถึงข้อเสนอต่างๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดยังเป็นเรื่องการจัดส่ง ว่าจะได้ส่งได้ในเวลาที่เป็นประโยชน์กับเราหรือไม่ โดยเขาระบุว่าจะจัดส่งให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์กับเรา
นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะจัดส่งได้ในวันไหน แม้กระทั่งผู้ขายเองก็ไม่กล้าบอก เขาก็บอกว่า เราต้องเซ็นสัญญาที่จะไม่เปิดเผยข้อมูล(Confidential agreement) กับเขาก่อน ซึ่งเราก็จะบอกข้อมูลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็ยังหารือกับผู้ผลิตรายอื่น ก็จะนัดคุยกับหลายเจ้า ทั้ง ซิโนแวค โมเดอร์น่า สปุตนิกไฟว์ แอสตราเซนเนกา
เมื่อถามต่อว่าจะมีวัคซีนซิโนแวค เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มเติมหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันที่ 24 เม.ย. จะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามา 5 แสนโดส เป็นส่วนที่เราเจรจาได้ในก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด ตนได้รับจดหมายจากสถานทูตจีน ประจำประเทศไทย ว่า รัฐบาลจีน พร้อมให้การบริจาควัคซีนซิโนแวคให้ไทยอีก 5 แสนโดสด้วย และขอให้เรายืนยันว่า ยินดีจะรับ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขในการรับ แต่เมื่อเขาให้มากขนาดนี้ เราก็พร้อมจะฉีดให้สำหรับทุกคนที่อาศัยในประเทศไทยอยู่แล้ว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทยอีก 35 ล้านโดส ว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย โดยมีศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งมีภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมฯ เข้าร่วมประชุม ซึ่งสรุปว่า เราต้องการฉีดวัคซีนโควิดให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทยมากขึ้นจากเดิมตั้งเป้า 70 ล้านโดส ก็จะเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนแล้วประมาณ 65 ล้านโดส ดังนั้น จึงต้องจัดหามาอีก 35 ล้านโดส มี 3 แนวทาง ดังนี้
1.ให้ทางภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรมไปเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายบริษัท
2.ทางภาคเอกชน โดยหอการค้าบอกว่า ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลไปซื้อ และฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย คือ คนในโรงงานอีก 10 ล้านโดส
3.รพ.เอกชน จะขอจัดซื้อเอง โดยจะฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายของเขา เช่น คนที่มีโรคประจำตัวไปรักษาที่รพ.เอกชน ก็จะเอาวัคซีนนี้ไปฉีด เป็นต้น
“โดยทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1. ต้องมีระบบการดูแลเรื่องความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด 2.ต้องมีระบบรายงานที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การออกหนังสือการฉีดวัคซีน 3.ต้องมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ซึ่งภาคเอกชนก็เห็นพร้องต้องกัน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 1 ล้านโดส ภาคเอกชนมาร่วมฉีดเยอะ อย่าง กทม. หรือการฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ก็ล้วนเป็นความร่วมมือที่ดีเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนครบถ้วน” นพ.โอภาส กล่าวและ ว่า ตอนนี้เรามีการเจรจาอยู่หลายเจ้า ซึ่งหลักในการพิจารณาคือจะได้วัคซีนเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ และต้องมีแผนการจัดส่งที่ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาความครอบคลุมต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราไม่ได้ซื้อมาเยอะๆ ทีเดียว เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่รพ.เอกชนไปเจรจาซื้อเองนั้น ต้องชี้แจงก่อนว่า เนื่องจากวัคซีนไม่ใช่สินค้าที่มีในท้องตลาด ดังนั้นต้องเจรจากับบริษัทผลิต ซึ่งเขาจะขายผ่านหน่วยงานรัฐ ดังนั้นหากภาคเอกชนไปเจรจามาได้ แล้วองค์การเภสัชกรรมก็จะเป็นผู้รับรองการซื้อให้ ยกเว้นว่าเอกชนจะมาขึ้นทะเบียนและนำเข้าเอง ก็ไม่ต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ แต่ที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่าไม่มีใครมาขึ้นทะเบียน ส่วนเรื่องราคาที่จะคิดกับประชาชนที่มารับบริการฉีดที่รพ.เอกชนนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเช่นกันว่าในยามนี้ไม่ควรจะเก็บจากประชาชนแพง ดังนั้น จึงมอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเรื่องการกำหนดราคาวัคซีน ซึ่งตนไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะกำหนดเท่าไหร่ หรือต้องมีเพดานราคาเท่าไหร่
- 66 views