จากกรณีสื่อโซเชียลมีเดียได้ทำการเผยแพร่ข้อมูลระบุว่า ยาขม-ยาเขียวสามารถในการรักษาโควิดได้ รวมถึงมีการพาดพิงถึงผลิตภัณฑ์ของตราใบห่อด้วยนั้น

 

มีผู้ส่งข้อความให้ทาง www.cofact.org ทำการตรวจสอบ ซึ่งห้างขายยาตราใบห่อได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก "ห้างขายยาตราใบห่อ baihor" ว่า

 

อย่าเชื่อข่าวลวง ย้ำ ยาขมยาเขียวไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด ช่วงนี้มีข่าวลือเผยแพร่ว่ายาเขียวและยาขมสามารถรักษาโรคจากไวรัสโควิดได้ และมีการพาดพิงมาถึงผลิตภัณฑ์ของตราใบห่อด้วยนั้น

 

ทาง “ตราใบห่อ” ขอเรียนให้ทราบและย้ำอีกครั้งว่า ยาขมยาเขียวไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือรักษา สรรพคุณของยาขมและยาเขียวที่ถูกต้องคือ

 

ยาขม : แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไข้ตัวร้อน และเป็นยาระบายอ่อนๆ

 

ยาเขียว : แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นไข้ ปวดหัวตัวร้อน ถอนพิษไข้ หรือออกหัดอิสุกอีใส

 

วิธีที่ป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ดีที่สุดคือ ล้างมือ อยู่ห่างกัน แยกชุดจานช้อน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น

 

หยุดเชื่อ หยุดส่งต่อข่าวลือ หยุดปั่นกระแส เพราะจะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของสมุนไพรไทย ช่วยกันให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้สมุนไพรไทยเป็นยารักษาโรคราคาถูกสำหรับคนไทยต่อไป

 

ไม่เฉพาะ ยาขม-ยาเขียว เท่านั้น กรณีข่าวสมุนไพรรักษาโควิดได้นั้นถูกเผยแพร่มาแล้วเมื่อครั้งที่ไวรัสโควิดระบาดในประเทศไทยปีที่แล้ว โดยในวันที่ 5 มี.ค.2563 มีเว็บไซต์หนึ่งเผยแพร่ข้อความ ข่าวเกี่ยวกับสารสกัด “ฟ้าทะลายโจร” ของไทย ระบุว่า

 

ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ไทยจากหลายหน่วยงาน ได้ร่วมกันทำการวิจัยทดลองทางห้องปฏิบัติการเพื่อหายาต้าน Covid-19 จนค้นพบว่าสารสกัด “ฟ้าทะลายโจร” ของประเทศไทย สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสในหลอดทดลองได้ ซึ่งทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid-19 ในผู้ป่วยจริงได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 จะได้ทราบผลที่ชัดเจน

 

นอกจากนั้นยังแอบอ้างสรรพคุณของ “ฟ้าทะลายโจร” เกินจริงว่าสามารถสกัดกั้นไวรัส โดยเฉพาะไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งนี้ มีการจดสิทธิบัตรในจีนว่า สารสำคัญในฟ้าทะลายโจร สามารถใช้รักษาและป้องกันการติดเชื้อไวรัสซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มโคโรนาได้

 

ก่อนที่จะลงเอยด้วยการขายอาหารเสริม

 

จากการตรวจสอบสรุปว่า ยาขมยาเขียวไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโควิด ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือรักษา

 

หมายเหตุ : ภาพจาก https://www.gj.mahidol.ac.th/main/covid19/covid19is/