สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา ให้ข้อมูลควรระวังการใช้ยา Ergotamine ซึ่งเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลัน เผยมียา 5 กลุ่มต้องระวังหากใช้ร่วม
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยา Ergotamine ซึ่งเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันที่มีประสิทธิภาพ แต่มีข้อควรระวังที่ต้องทราบคือ ยานี้ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด โดยให้รับประทาน 1 หรือ 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก หากอาการยังไม่ดีขึ้นสามารถรับประทานซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ดทุกครึ่งชั่วโมง แต่ ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และ ห้ามรับประทานเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์ และเนื่องจากยานี้อาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ร่วมกับยาอื่น
การใช้ยา ergotamine อย่างผิดวิธีอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือ หัวใจวาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว และหากรับประทานยาติดต่อกันทุกวันอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรงเมื่อหยุดยา
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดทำภาพอินโฟกราฟิกระวังปัญหายาตีกันเมื่อใช้ยาแก้ปวดไมเกรน โดยระบุว่า Ergotamine เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนเฉพาะเวลาปวดเฉียบพลัน การรับประทานยาดังกล่าวต้องระวังปัญหายาตีกัน ซึ่งอาจทำให้อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงขึ้น หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพยาลดต่ำลงจนไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้
สำหรับยาที่ต้องระวังหากต้องรับประทานร่วมกัน ได้แก่
1.ยาต้านเชื้อรา เช่น Ketoconazole, Voriconazole, Itraconazole, Fluconazole
2.ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) เช่น Erythromycin, Clarithromycin, Azithromycin
3.ยาที่ใช้รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น Verapamil , Diltiazem, Amiodarone
4.ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น Ritonavir, indinavir Nelfinavir, Saquinavir
5.ยาต้านอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น Sumartiptan, Zolmitriptan (หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง)
ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง เพราะอาจทำให้เกิดหลอดเลือดสมองแตก หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือไตวายเฉียบพลันได้ และการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลให้เกิดการขาดเลือดบริเวณปลายมือ ปลายเท้าจนเกิดเนื้อตายและต้องตัดทิ้งในที่สุด การใช้ยานี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ากำลังใช้ยานี้อยู่เพื่อป้องกันปัญหายาตีกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก อย.
- 35526 views