มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก จัดเสวนาในหัวข้อ “บทบาทนักการเมืองหญิงกับวิกฤตโควิด-19” ที่โรงแรมเอเวอร์กรีน เพลส สยาม เชิงสะพานหัวช้าง ราชเทวี กทม. เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 โดยมี ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ ,ดร.รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ ,เบญจรงค์ ธารณา พรรคกล้า และชนก จันทาทอง จากพรรคเพื่อไทย
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรายงานข้อมูลชีวิตผู้หญิงแม่และเด็ก ตกงาน อดอยากและความรุนแรง โดยเครือข่ายแบ่งปันความสุขแม่และเด็กปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งพบว่าในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดกลุ่ม “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่ไม่มีงานทำเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นสูงกว่าในช่วงปกติ ทั้งนี้ปัจจัยที่สำคัญคือการเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐ
ประเด็นตกงานหรือว่างงาน จากการรวบรวมข้อมูลของภาคีเครือข่ายฯ พบว่า แรงงานผู้หญิงทั้งในและนอกระบบได้รับผลกระทบแตกต่างกัน โดยแรงงานในระบบถูกเจ้าของกิจการใช้โอกาสช่วงไวรัสโควิด 19 ระบาดเป็นสาเหตุในการเลิกจ้าง รวมทั้งการขาดทุนสะสมและไม่มีออเดอร์ นายจ้างปิดกิจการไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ในขณะที่แรงงานหญิงนอกระบบ ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบประกอบอาชีพเสริมสวย หมอนวด ขับแท็กซี่ ซึ่งการระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ตกงานอย่างทันที
ข้อมูลเดือน เม.ย. ถึง ก.ค. กลุ่มแม่และผู้หญิงได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายฯ 5,289 ครอบครัว มีการเขียนข้อความส่งมายังองค์กรภาคีเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น ขอรับบริจาคนมผงเด็กเล็ก นมกล่อง แพมเพิสสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เจลแอลกอฮอล์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งขอเงินใช้หนี้นอกระบบ และค้างค่าเช่า ค่าผ่อนรถ เป็นต้น
กลุ่มผู้หญิงและครอบครัวที่ขอความช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ครอบครัวเดี่ยว กรณีพ่อหรือแม่ตกงาน หรือตกงานทั้งคู่ คิดเป็นร้อยละ 67 และ 2.แม่เลี้ยงเดี่ยว ร้อยละ 32
โดยลักษณะงานที่ทำเป็นงานอิสระคิดเป็นร้อยละ 75 ได้แก่ วินรถจักรยานยนต์ ค้าขายออนไลน์ หาบเร่ รับจ้างรายวัน มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือทำงานในสถานประกอบการธุรกิจ และลำดับสุดท้ายคือทำงานในสถานบันเทิง เช่น เด็กเชียร์เบียร์ เด็กเสิร์ฟตามร้านอาหาร ผับ บาร์
ประเด็นความรุนแรงที่เครือข่ายรวบรวมข้อมูล ยังแบ่งความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งเกิดจากความเครียดสะสมได้ 3 ประเภท คือ 1.สามีทุบตี 2. สามีช่วยเลี้ยงลูก และ 3.สามีไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเครียดมาจากรายได้ลดลง
โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ทางเครือข่ายพบว่ามีภาระต้องรับผิดชอบดูแลลูกหลายคนมองหาบริจาคเพราะว่างงาน มีร้อยละ 5 ที่อยากฆ่าตัวตายเนื่องจากทนลูกร้องไห้หิวไม่ไหว
ในส่วนการลงทะเบียนรับสิทธิเยียวยาจากมาตรการของรัฐบาล มี 3 ประเภท ได้แก่ 1.ไม่ได้รับสิทธิ 2.ลงทะเบียนไม่ทัน และ 3.ได้รับสิทธิ กรณีที่ไม่ได้รับสิทธินั้นพบว่าใช้ออนไลน์ไม่เป็น อยู่นพื้นที่ไม่มีอินเตอร์เนท หรือไม่มีสมุดบัญชี
ประเด็นสุดท้ายคือแรงงานข้ามชาติ ประสบกับปัญหาภาวะว่างงาน ตกงานไม่มีเงินซื้อข้าวของภายในบ้าน ไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง
ทั้งนี้ ทางภาคีเครือข่ายสรุปข้อเสนอให้กับภาคส่วนต่างๆ ในกรณีเร่งด่วนคือ จัดทำข้อมูลชุดครอบครัวให้เข้าถึงการช่วยเหลือ ส่วนนโยบายนั้น ทางภาคีเครือข่ายมีข้อเสนอ 9 ข้อ ดังนี้
- จัดสรรงบประมาณ เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในสถานการณ์โรคระบาด โดยเฉพาะกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว
- จัดทำแผนฟื้นฟูรองรับการจ้างงานให้แม่เลี้ยงเดี่ยว
- ปัญหาความรุนแรงในแม่และเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัวพบว่ามีการทำร้ายสูงขึ้นเป็นเท่าตัวช่วงล็อคดาวน์ ต้องมีการคุ้มครองเด็กสตรีกรณีถูกทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ จัดให้มีกิจกรรมในครอบครัวลดความเครียด
- จัดเก็บภาษีคืนกำไรให้แม่และเด็ก เช่น ถุงยังชีพ ฝึกอาชีพ
- ช่วยเหลือหญิงไทยในต่างประเทศให้เดินทางกลับประเทศ
- ให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ออกมาตรการให้แรงงานข้ามชาติช่วงรอยต่อการรอรับใบอนุญาตทำงาน คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม
- แม่ลูกซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติสามารถซื้อบัตรสุขภาพโดยไม่ต้องรอ
- ปัญหารายได้ลดลงควรช่วยเหลือแม่ลูกอ่อน ลูกที่ไปโรงเรียน หรือกลับประเทศไม่ได้
- จัดทำฐานข้อมูลแม่และเด็กพัฒนาสิทธิไม่ให้นายจ้างเอาเปรียบ
ด้านเวทีเสวนา เบญจรงค์ ธารณา ตัวแทนนักการเมืองผู้หญิงจากพรรคกล้า ให้ความเห็นว่าปัญหาเด็กและผู้หญิงสะสมมานาน เพียงแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้เกิดการตอกย้ำ
“ในวิกฤตผู้หญิงมักได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย เช่นแรงงานในธุรกิจโรงแรม และสายการบิน ผู้หญิงเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ปัญหาการว่างงานของผู้หญิงในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ส่งผลต่อสภาพจิตใจ มีปัญหาหนี้สิน การเลี้ยงดูบุตร คำถามคือรัฐให้ความช่วยเหลือทุกคนแล้วหรือยัง การช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มสตรีทั้งนอกและในระบบหรือเปล่า ทำอย่างไรให้รัฐมองเห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้” นักการเมืองหญิงจากพรรคกล้า กล่าวและว่า ความเครียดจากการว่างงานทำให้เกิดหนี้สินที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง การตกงานมากขึ้นและผู้หญิงกับเด็กได้รับการศึกษาน้อยลง เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต้องรีบแก้ไข
“นอกจากนี้ การสร้างรายได้สร้างงานซึ่งเด็กจบใหม่ยังไม่รู้จะมีโอกาสเข้าถึงการทำงานอย่างไรในขณะที่ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจทำให้เกิดความเครียด จึงอยากให้ผู้อำนาจช่วยดูแลตรงนี้คุณภาพชี้วัดผู้หญิงไทยยังมองไม่เห็น อยากเห็นถูกยกระดับขึ้นมาผู้หญิงมีสิทธิ มีพื้นที่ทักษะในการช่วยพยุงตัวเองมีโอกาสมากขึ้น” เบญจรงค์ กล่าว
ด้าน ดร.รัชดา จากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ไข โดยโควิดยังทำให้เกิดปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรม ซึ่งเวลาเกิดวิกฤตผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายรับภาระทั้งสิ้น
“เป็นหน้าที่ต้องรับบทบาทหนักกว่าผู้ชายส่วนหนึ่งเพราะความเป็นแม่ต้องดูแลครอบครัวหาเงินเลี้ยงครอบครัว ดูแลลูก เมื่อมีปัญหาสังคมขึ้นมาผู้หญิงคือผู้ที่ต้องรับบทบาทหนักมากกว่าผู้ชาย บางเรื่องผู้ชายก็ไม่เข้าใจเราจึงต้องตกตะกอนให้สังคมแล้วยกขึ้นมาเป็นประเด็น”
“เด็กถูกทำร้ายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ที่อังกฤษก็มีตัวเลขว่าช่วงโควิดเด็กถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้น ที่ฝรั่งเศสผู้หญิงถูกทำร้ายมากขึ้น เมื่อมองดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก นักการเมืองหญิงก็เป็นกลไกสำคัญที่จะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุย” ดร.รัชดา กล่าว
- 129 views