สถาบันโรคผิวหนัง เตือนอันตรายจากการแพ้ยา มีได้หลายแบบทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต และชนิดที่รุนแรงก่อให้เกิดความพิการ หรือถ้ารุนแรงมากอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าวจาก เฟซบุ๊ก สาวเตือนอุทาหรณ์ปวดฟันคุด ซื้อยาไอบูโพรเฟนมากินเองจนเกิดอาการแพ้หนัก ผิวหนังไหม้ลอก นอนไอซียู พร้อมโพสต์ภาพผิวหนังลอกทั่วตัวนั้น ข้อมูลดังกล่าวพบว่าเป็นอาการของการแพ้ยา โดยการแพ้ยาส่วนมากมักเกิดภายหลังการรับประทานยาในช่วง 7-21 วันหลังเริ่มทานยาครั้งแรก แต่ถ้าเคยได้รับยาชนิดนั้นๆ ที่แพ้มาก่อนแล้วอาจมีอาการได้รวดเร็วในเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังทานยาได้ สำหรับกลุ่มลมพิษหรือมีปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) อาการจะแสดงได้อย่างรวดเร็วหลังทานยาในเวลาเป็นนาทีถึงชั่วโมง ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสแพ้ยาได้มากขึ้น ได้แก่ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ เพศ ซึ่งมักพบการแพ้ยาในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คนไข้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และคนที่มีประวัติเคยแพ้ยามาก่อน
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เกิดการแพ้ยาได้สูง ได้แก่ ยากันชัก ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs : Nonsteroidal anti-inflammatory drugs) ยา allopurinol ยา dapsone ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs) ยากลุ่มแก้อักเสบฆ่าเชื้อ เช่น กลุ่ม penicillin, cephalosporin, sulfonamides, β-lactam antibiotic, trimethoprim-sulfamethoxazole, minocycline เป็นต้น ข้อสังเกตที่ทำให้สงสัยว่าอาจเกิดการแพ้ยาที่รุนแรง ได้แก่ อาการแสดงทางผิวหนัง กรณีหลังรับประทานยาแล้วมีอาการดังต่อไปนี้ คือ มีผื่นแดงทั้งตัว (Erythroderma), มีหน้าบวม ปากบวม มีผื่นหรือแผลที่ปากหรือเยื่อบุที่อื่นๆ มีอาการแสบ กดเจ็บที่ผิวหนัง มีตุ่มน้ำ มีผิวหนังลอกหลุด มีจุดจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง หรือมีตุ่มหนองตามตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้สงสัยว่าน่าจะมีอาการแพ้ยาที่รุนแรงที่ต้องรีบมาพบแพทย์
สำหรับอาการทางร่างกายอื่นๆ ที่มักพบร่วมด้วยในคนที่แพ้ยารุนแรง ได้แก่ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น ดังนั้น ในกรณีที่คนไข้ได้รับประทานยาแล้วมีอาการดังกล่าวข้างต้นที่ทำให้สงสัยว่าอาจจะเป็นการแพ้ยาที่รุนแรง ควรหยุดยาในทันที รีบมาพบแพทย์เพื่อดำเนินการรักษาอย่างรวดเร็ว และควรนำยาที่สงสัยว่าจะแพ้มาให้แพทย์ดูร่วมด้วย ซึ่งโดยส่วนมากถ้าอาการเข้าได้กับการแพ้ยาที่รุนแรงมักจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้นต่อไป
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวอีกว่า สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือในกรณีคนไข้เคยแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วนั้นจะแพ้ยาชนิดดังกล่าวไปตลอดชีวิต รวมถึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้ยาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือกลุ่มที่ใกล้เคียงกับยาตัวเดิมที่แพ้ได้ และการได้รับยาที่เคยแพ้อยู่แล้วในครั้งถัดไป อาการที่เกิดจากการแพ้ยาในครั้งใหม่จะเกิดได้อย่างรวดเร็วขึ้นและอาจรุนแรงมากขึ้นด้วย ดังนั้น คนไข้ควรจดจำข้อมูลการแพ้ยาของตนเอง หรือเก็บบัตรแพ้ยาไว้กับตัวเสมอ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนการรักษาในครั้งถัดๆ ไป และระมัดระวังเรื่องการซื้อยาเพื่อรับประทานเอง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้นใหม่ได้
- 4522 views