ปักกิ่ง, 20 พ.ค. (ซินหัว) — ขณะที่การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงรุมเร้าคนทั้ง โลกปริศนาเกี่ยวกับต้นกำเนิดของไวรัสนั้นยังคงเป็นประเด็นที่แวดวงวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงให้ความสนใจ

จ้าวกั๋วผิง นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) อธิบายว่าในการระบุต้นกำเนิดของไวรัสตัวหนึ่งที่ยังไม่รู้จัก บรรดานักวิทยาศาสตร์จะต้องตามหาจุลินทรีย์ก่อโรค (pathogen) และสัตว์พาหะซึ่งก็คือโฮสต์ (host) ในธรรมชาติของไวรัสชนิดนั้นๆ

นับตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์ส (SARS) บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พยายามตามหาแหล่งที่มาของมัน โดยพวกเขาได้ระบุเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคซาร์ส (SARS-CoV) ให้เป็นจุลินทรีย์ก่อโรคตามขั้นตอน แต่กว่าจะค้นพบว่าโฮสต์ตัวกลางในธรรมชาติของโรคซาร์สคือ “ค้างคาวเกือกม้าจีน” (Rhinolophus sinicus) นั้น ก็ล่วงเลยมาจนถึงปี 2015 หรือ 13 ปีหลังเกิดการแพร่ระบาด

ขณะนี้ยังมีคำถามมากมายที่ยังรอคำตอบ ไม่ว่าจะเป็น ค้างคาวเกือกม้าจีนเป็นโฮสต์ในธรรมชาติเพียงตัวเดียวของไวรัสโรคซาร์สหรือไม่ หรือไวรัสเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเจอกับโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) อย่างชะมด

การแกะรอยหาจุดกำเนิดของไวรัสนั้นต้องอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อาทิ หลักฐานทางชีววิทยาที่ได้จากสมุฏฐานวิทยาของโรคหรือศาสตร์การหาสาเหตุของโรค เวชศาสตร์คลินิก และระบาดวิทยา รวมถึงหลักฐานทางชีวโมเลกุลที่ได้จากการหาลำดับพันธุกรรมและการตรวจจับแอนติบอดี

จ้าวเสริมว่านักวิทยาศาสตร์ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักฐานทั้ง 2 ประเภท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพื่อยืนยันการค้นพบหลักฐานทั้งสองประเภทนี้ ก่อนที่มีข้อพิสูจน์ที่กระจ่างชัดในที่สุด

ปกติแล้ว การสอบสวนทางระบาดวิทยาเพื่อหาต้นกำเนิดของโรคติดเชื้อนั้น มักเริ่มจากติดตามประวัติการติดต่อของผู้ป่วยติดเชื้อรายแรกหรือ “ผู้ป่วยหมายเลขศูนย์” ซึ่งการยืนยันตัวนั้นเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า

หลิวเผย ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (China CDC) กล่าวว่าการติดตามตัวผู้ป่วยโรคโควิด-19 หมายเลขศูนย์นั้น เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากครอบคลุมข้อมูลอันซับซ้อนจำนวนมหาศาล อีกทั้งผู้ป่วยรายแรกๆ ยังอาจเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการซึ่งอาจไม่มีบันทึกประวัติทางการแพทย์

จินฉี หัวหน้าสถาบันชีววิทยาการแพทย์ของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน (CAMS) กล่าวว่าไม่มีการยืนยันตัวตนผู้ป่วยรายแรกในหลายโรคไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ปี 1918 โรคเอดส์ (AIDS) หรือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) ที่ระบาดเมื่อปี 2009 เนื่องจากการติดตามผู้ป่วยรายที่ศูนย์เป็นโจทย์ที่ต้องใช้ศาสตร์หลายแขนง ซึ่งต้องอาศัยการทำงานในปริมาณมหาศาลจากแวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์

ผลการศึกษาล่าสุดของสถาบันพันธุศาสตร์ (Genetics Institute) แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) เผยว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกนับตั้งแต่ปลายปี 2019 และทุกวันนี้กลุ่ม “ผู้ป่วยหมายเลขศูนย์” ในประเทศส่วนใหญ่นั้นยังคงตามตัวไม่เจอ

“ผลการวิจัยดังกล่าวเพิ่มพูนหลักฐานที่ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) มีบรรพบุรุษร่วมกับไวรัสเมื่อปลายปี 2019 ซึ่งบ่งชี้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นจุดที่ไวรัสกระโดดจากโฮสต์ที่เป็นสัตว์เข้ามาสู่มนุษย์” มหาวิทยาลัยฯ ระบุในแถลงการณ์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม

นอกจากนั้น หลักฐานทางชีววิทยาระดับโมเลกุลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยากจะหามาได้

ไวรัสต่างๆ มีความฉลาดในตัว โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่จีโนมมีอาร์เอ็นเอ (RNA) เป็นส่วนประกอบซึ่งทำให้พวกมันมีโอกาสกลายพันธุ์สูงกว่าและเร็วกว่าสายพันธุ์ที่จีโนมมีดีเอ็นเอ (DNA) เป็นส่วนประกอบ

จ้าวระบุว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นไวรัสอาร์เอ็นเอ หมายความว่าเล่ห์เหลี่ยมของมันย่อมมากกว่า จีโนมของมันมีขนาดใหญ่เป็น 3 เท่าของจีโนมไวรัสเอชไอวี (HIV) อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดการกลายพันธุ์ซึ่งรวมถึงการตัดองค์ประกอบ (deletion) และการกลับมารวมตัวขององค์ประกอบ (recombination) ได้มากกว่า

จ้าวเสริมว่าในกระบวนการข้ามสายพันธุ์นั้น ไวรัสจะสะสมรูปแบบการกลายพันธุ์ต่างๆ เพื่อปรับให้เข้ากับร่างกายของมนุษย์ ซึ่งเป็นโฮสต์ตัวใหม่ของมัน ก่อนแพร่กระจายในหมู่ประชากรโฮสต์

นอกจากนี้จ้าวระบุว่าการกลายพันธุ์ในระยะแรกส่วนใหญ่อาจไม่แสดงอาการชัดเจนในผู้ที่ติดเชื้อ ดังนั้น การรวบรวมหลักฐานทางชีววิทยาระดับโมเลกุลซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญนั้นจึงเป็นเรื่องยาก

ทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้ต้นกำเนิดของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นปริศนา แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจำนวนมากจะทุ่มแรงค้นหาก็ตาม

จ้าวย้ำว่าการสืบหาต้นกำเนิดที่ทำให้เกิดโรคของโรคต่างๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์หรือโรคซาร์สนั้น ไม่เคยหยุดพัก ทั้งยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสืบเนื่องจากความซับซ้อนของมัน

“หลักฐานบางอย่างเมื่อสูญหายไปแล้ว ก็อาจหายไปตลอดกาล ข้อเท็จจริงบางประการอาจไม่ถูกเปิดเผย แม้จะมีการศึกษาอันยาวนานจำนวนมากก็ตาม” จ้าวกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่าผู้คนควรตั้งความคาดหวังต่อผลลัพธ์การค้นหาต้นกำเนิดตามธรรมชาติของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างมีเหตุผล

(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทำงานในห้องไอซียูของโรงพยาบาลโรคปอดอู่ฮั่น ในนครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2020)