เครือข่ายผู้ประกันตนฯ ห่วงปรับสัดส่วนเงินว่างงาน-ลดเงินสมทบนายจ้าง กระทบกองทุนทดแทนว่างงาน 1.6 แสนล้านบาทอาจไม่เพียงพอ ทำนายจ้างเลี่ยงใช้มาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ
ตามที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จากผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน เป็นร้อยละ 75 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของทั้งนายจ้างและลูกจ้างนั้น
วันที่ 7 พ.ค. นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าวที่จะเพิ่มรับเงินทดแทนกรณีว่างงานจากร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวันเป็นร้อยละ 75 เพราะจะทำให้นายจ้างบางส่วนเลี่ยงการใช้มาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งจ่าย 75% ของค่าจ้าง ซึ่งได้เงินมากกว่าเงินจากประกันสังคม ที่สำคัญหากทำแบบนี้ก็ซ้ำซ้อน และเสียเวลา เพราะต้องมาแยกว่ามีการใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนอีกหรือไม่
“ปัจจุบันกรณีเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19 ผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิ์และผ่านคัดกรองแล้วประมาณกว่า 900,000 ราย ขณะนี้จ่ายเงินไปแล้วประมาณ 400,000 ราย ซึ่งวงเงินมี 1.6 แสนล้านบาท เดิมทีตั้งเป้าว่าจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบตามเกณฑ์จำนวน 2 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 9 แสนคน อาจทำให้คิดว่า วงเงินจากกองทุนทดแทนว่างงานตรงนี้เพียงพอ แต่หากเปิดช่องเพิ่มจ่ายว่างงานไปถึง 75% ตนมองว่านายจ้างจะหันมาใช้กกันมาก และจะไม่ใช้มาตรา 75 ของพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ตัวเลขผู้ใช้สิทธิว่างงานจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินที่มีอาจไม่เพียงพอ” นายมนัส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเงินไม่เพียงพอมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่สำนักงานประกันสังคมจะใช้เงินจากกองทุนชราภาพ หรือกองทุนอื่นๆ นายมนัส กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ทางเครือข่ายฯ ไม่ยินยอมและจะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพราะเงินบำนาญชราภาพ คือเงินเก็บส่วนของผู้ประกันตนเมื่อเกษียณ อย่างไรก็ตาม จริงๆ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นหากใช้ตามช่องทางที่มีอยู่ ดังนั้น คงต้องมารอลุ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (7 พ.ค.) คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) จะมีการประชุมเรื่องนี้ ว่า จะได้ข้อสรุปอย่างไร เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการเพิ่มสัดส่วน 75% จาก 62% แต่ยังมีประเด็นปรับลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างจากร้อยละ 4 เหลือร้อยละ 1 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง แต่เงินเข้ากองทุนจะน้อยลง ขณะที่เงินไหลออกเพิ่มขึ้น ตรงนี้ก็ต้องตั้งแผนบริหารจัดการให้ดีด้วย
ภาพจากเฟซบุ๊ก Manas Kosol
- 17 views