คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ร่วมสนับสนุน สปสช.-หน่วยงานต่างๆ คัดกรองเชื้อ COVID-19 ลงพื้นที่คลัสเตอร์-ชุมชนใหญ่ เน้นความสำคัญภาคบริการ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนผ่อนคลายมาตรการ
ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงกิจกรรมลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัส COVID-19 ให้กับประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้านบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี เขตเทศบาลนครนนทบุรี จำนวนกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 และสถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี รวมถึง ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2563 ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายสลัม 4 ภาคมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมถึงปทุมธานี และนนทบุรี ยังเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่รัฐบาลประกาศให้ยังต้องคุมเข้ม ไม่สามารถคลายล็อกดาวน์ได้ เนื่องจากแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงแต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในจังหวัดหลักเหล่านี้ที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ ดังนั้น สปสช.จึงพยายามให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เป็นคลัสเตอร์บางส่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ทั้งนี้ สปสช. ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนเชิงวิชาการ ในการลงไปช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยใช้กระบวนการทางห้องปฏิบัติการตรวจยืนยัน ด้วยวิธีการเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและลำคอ หรือ Nasopharyngeal swab ร่วมกับ Throat swab ไปวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของไวรัส ควบคู่กับการหายีนเจ้าบ้าน ที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำของผลลัพธ์ได้
สำหรับกิจกรรมบริเวณพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรี และสถานกักขังกลางปทุมธานี ได้มีการคัดกรองประชากรใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มคนในชุมชนที่อาศัยบริเวณท่าน้ำนนทบุรี กลุ่มคนไร้บ้าน และผู้ต้องขังในสถานกักขังกลาง โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของคลินิกอบอุ่นจะคัดกรองไข้ พร้อมแจกจ่ายยา หน้ากาก และเจลล้างมือ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงทางคณะฯ จะทำการเก็บสิ่งส่งตรวจเข้าสู่แล็บเพื่อตรวจหาเชื้อต่อไป ขณะเดียวกันได้มีเครือข่ายจิตอาสาและมูลนิธิฯ มาดูแลแจกจ่ายอาหาร ซึ่งผลลัพธ์ของการตรวจนั้นจะถูกรายงานให้กับ สปสช. ว่ามีการพบโรคหรือไม่อย่างไร
“เป้าหมายที่เราเลือกอาจลงไปในกลุ่มใหญ่ๆ โดยเฉพาะตอนนี้ที่รัฐบาลกำลังจะหาทางคลายล็อกดาวน์บางอย่าง เราจึงอาจต้องมุ่งเป้าไปกับกลุ่มคนบางส่วน เช่น ผู้ให้บริการ ร้านอาหาร ช่างตัดผม ช่างเสริมสวย ซึ่งมีโอกาสที่จะต้องให้บริการกับคนจำนวนมาก เมื่อได้รับการคัดกรองแล้วว่าเขาไม่ติดเชื้อก็จะเกิดความสบายใจในฐานะผู้ให้บริการ นี่เป็นส่วนที่เราจะต้องทำในพื้นที่ กทม. และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ที่คิดว่ายังไม่สามารถคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมดได้” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม ระบุ
นอกจากนี้ ทางคณะฯ ยังได้มีการร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค โดยนำทีมเทคนิคการแพทย์เข้าไปช่วยเก็บสิ่งส่งตรวจต่างๆ ส่งห้องปฏิบัติการ ในจังหวัดที่กำลังจะคลายมาตรการล็อกดาวน์ เช่น นครปฐม ซึ่งขณะนี้กำลังหารือการทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ในการลงไปค้นหากลุ่มเป้าหมายต่างๆ ที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ โดยมี สปสช.ช่วยในการสนับสนุนและเบิกจ่ายตามสิทธิต่างๆ
ขณะเดียวกัน ยังมีการช่วยตรวจยืนยันในผู้ที่ถูก State Quarantine เช่น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและต้องถูกกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจมีการกักอยู่ในโรงแรม หรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ถูกจัดไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการตรวจคัดกรองว่ายังมีความเสี่ยงหรือมีเชื้ออยู่ในร่างกายหรือไม่ ก่อนที่จะถูกส่งกลับไปสู่ครอบครัวและคนใกล้ชิด
“ตอนนี้ยิ่งเราปิดล็อกนานเท่าไรเศรษฐกิจก็ยิ่งแย่ แต่คำถามตอนนี้คือเราจะเปิดที่บริการส่วนไหนก่อน ฉะนั้นเราอาจต้องเปิดในบริการที่ควบคุมได้ โดยควบคุมที่ผู้ให้บริการ อย่างร้านอาหาร ช่างทำผม หรือบริการต่างๆ ที่ต้องเข้าถึงคนเยอะ ถ้าคนเหล่านี้ได้ผ่านการคัดกรอง อย่างน้อยผู้ที่เข้ารับบริการก็ไม่น่าสัมผัสกับเชื้อได้ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ก็จะช่วยวางแผนถึงมาตรการคลายล็อกดาวน์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้น” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม ระบุ
- 10 views