กรมควบคุมโรค-กรมการแพทย์ ปรับเกณฑ์ตรวจผู้ป่วย PUI เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อโควิด-19 รวม 4 กรณี เน้นอาการอย่างหนึ่งอย่างใดของโรคระบบทางเดินหายใจตรวจหาเชื้อได้ทันที
วันที่ 6 พ.ค. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (ศบค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ให้ข้อมูลถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการตามนิยามเฝ้าระวังโควิด-19 และผู้ป่วยยืนยันรายวันตั้งแต่ 1 เม.ย.- 5 พ.ค.2563 ว่า ข้อมูลตั้งแต่ 4 ม.ค. มีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยตรวจเชื้อ หรือ ผู้ป่วย PUI ( Patient Under Investigation) จำนวน 82,627 ราย ยืนยัน 2,988 ราย คิดเป็น 3.62% แต่เมื่อมีการเปลี่ยนเกณฑ์ PUI ข้อมูลตั้งแต่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย PUI จำนวน 54,600 ราย ผู้ป่วยยืนยัน 768 ราย คิดเป็น 1.41%
โฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า จะเห็นว่าเมื่อตัวเลขน้อยลง ก็จะมีการปรับเกณฑ์ PUI อย่างวันที่ 7 เม.ย. แต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ยอดผู้ป่วยเริ่มเพิ่มขึ้น จนถึงวันที่ 28 พ.ค.พุ่งสูงขึ้น และหย่อนลงอีก ดังนั้น หน้าที่กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ก็ต้องปรับเกณฑ์ผู้ที่เข้าข่ายสงสัยตรวจเชื้อโควิด-19 โดยจากเดิมคนที่จะตรวจเชื้อ ต้องมีไข้ ต้องมีประวัติกลับจากต่างประเทศ ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย หลังๆก็เริ่มผ่อนลงว่า ต้องทำงานกับผู้ป่วยยืนยันเชื้อก่อนหน้านี้
ภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
“ล่าสุดกรมการแพทย์และกรมควบคุมโรคได้ปรับเกณฑ์การพิจารณาผู้ป่วย PUI ใหม่ โดยหากมีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้หรือไม่มีไข้ก็ตาม รวมถึงกรณีการไม่ได้กลิ่น กระทรวงสาธารณสุขให้อยู่ในกลุ่มเข้าข่ายสงสัย ที่สามารถตรวจเชื้อหาโควิด-19ได้ โดยหลังจากปรับเกณฑ์ก็จะดึงเคสตรวจเชื้อมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเจอเชื้อด้วย โดยจะมีรายละเอียดการปรับเกณฑ์แจ้งให้ทราบภายในสัปดาห์นี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
อนึ่ง นิยามผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยแบ่งอาการออกเป็น 4 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 การเฝ้าระวังด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรืออาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก
กรณีที่ 2 การเฝ้าระวังในผู้สงสัยติดเชื้อ/ผู้ป่วย แบ่งเป็น 1. ผู้สงสัยติดเชื้อที่มีอาการ ได้แก่ อาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก และ/หรือ ประวัติมีไข้ หรือุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศา และ 2.ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ
กรณีที่ 3 การเฝ้าระวังในบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก หรือประวัติมีไข้ หรืออุณหภูมิกายตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป หรือปอดอักเสบ
กรณีที่ 4 การเฝ้าระวังผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อนในชุมชน ได้แก่ ผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไปในถานที่เดียวกัน
- 121 views