สถาบันบำราศนราดูร ถอดบทเรียนรักษาผู้ป่วยโควิด -19 กว่า 200 ราย เสียชีวิต 4 ราย วอนปชช.อย่าคลายมาตรการสวมหน้ากาก-ล้างมือ-เว้นระยะห่าง หากประมาทหวั่นระบาดระลอก 2
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่สถาบันบำราศนราดูร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวผลการรักษาผู้ป่วยโรคที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ว่า ทีมสถาบันบำราศนราดูรทำงานป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิดมาตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยหลายรายอายุน้อยสุด คือ 47 วัน ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโควิดเกือบ 3 พันคน โดยอยู่ที่สถาบันบำราศ 214 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยมีหลายๆ อย่างเกิดขึ้นครั้งแรกที่นี่ มีการประยุกต์เกี่ยวกับการรักษา และรวบรวมประสบการณ์เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคโควิด-19 ของไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการผ่อนปรนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน การขนส่งมวลชนคนแน่น รวมถึงการเปิดกิจการก็มีคนไปแย่งซื้อของที่ไม่ใช่ของจำเป็นอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั่นหมายความว่าเรามีโอกาสที่จะกลับไปพบผู้ป่วยแบบกลุ่มก้อน และแพร่ระบาดได้เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
นพ.อภิชาติ วชิรพันธ์ ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า 4 เดือนในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มา มีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวัง (Pui) 5,062 ราย ยืนยันติดเชื้อ 214 คน ในจำนวนเสียชีวิต 4 ราย ที่รับส่งต่อมาจากรพ.อื่นๆ รับมาจากรพ.อื่น เหลือรักษาในรพ. 1 ราย เดิมเป็นคนที่อาการรุนแรงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ปัจจุบันอาการดีขึ้นแล้ว ส่วนพียูไอเข้ามาใหม่ 10 ราย มีประวัติหลากหลาย อย่างไรก็ตามศักยภาพของสถาบันบำราศรับคนไข้ได้ประมาณวันละ 300 ราย แต่ในช่วงพีคมีคนไข้พียูไอมามากถึงวันละ 700-800 ราย ทำให้ต้องรอนานจนทางสถาบันต้องต้มมาม่าให้รับประทาน ดังนั้นอย่างที่มีการคาดการณ์เราจะอยู่กับโรคนี้ไปอีกระยะ การระบาดระลอกเราไม่อยากเห็นภาพคนไข้ล้นอีก ทั้งนี้ ผู้ป่วย 1 คนต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต่ำกว่า 2 คน ส่วนค่าใช้จ่ายหากเป็นคนไข้หนัก และเสียชีวิตอยู่ราวๆ รายละ 1ล้านบาท
“การที่รัฐผ่อนปรนมาตรการหลายๆ อย่างให้แล้ว แต่สิ่งที่ขอประชาชนอย่าหย่อนยานคือการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ อย่าไปพบปะรวมกลุ่มกันโดยไม่จำเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกสองขึ้น” นพ. อภิชาต กล่าว และว่า วันนี้เมื่อคนไข้เราน้อยจึงได้มีการปิดวอร์ดคนไข้จาก 7 เหลือ 1 วอร์ด ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และปรับบุคลากรให้ได้พักผ่อน แต่ก็เตรียมความพร้อมตัวเองอยู่ตลอดเวลาในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีบุคลากรการแพทย์ของเราติดเชื้อแต่อย่างใด
ด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผอ.สถาบันบำราศราดูร ฝ่ายควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล กล่าวว่า ในการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 เฉลี่ย 1 คน รักษาตัวในรพ. 2 สัปดาห์ คนไข้อายุน้อยสุด 47 วัน มากสุด 83 ปี โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยอายุเฉลี่ย 21-30 ปี เพศชาย 60% หญิง 40% โดย 60% มีอาการน้อยคล้ายไข้หวัด 20% ปอดอักเสบเล็กน้อย 19% อาการหนัก และ 6% อาการหนักมาก หัวใจล้มเหลว สำหรับอัตราการเสียชีวิตที่สถาบันฯ 0.5% ส่วนการใช้ยารักษาพบว่า 1 ใน 3 ไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่รักษาตามอาการ และ 2 ใน 3 ได้รับยาต้านไวรัส ทั้งนี้ยาที่ใช้มี 3 กลุ่มได้แก่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยารักษามาลาเรีย และรูมาตอยด์ และยาฟาวิพิราเวียร์
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า สถาบันบำราศฯ เป็นหน่วยงานที่รับส่งต่อผู้ป่วยอาการหนัก ทำให้อัตราผู้ป่วย 6% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 3% ทั้งนี้ในคนปกติที่ป่วยโควิด-19 จะใช้เวลา ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็ดีขึ้น แต่ในจำนวนผู้ป่วยหนักเป็นกลุ่มเสี่ยงจากอายุที่มาก 60ปีขึ้นไป และคนที่มีภาวะเสียงเช่น ตับแข็งจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถึงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ โรคหัวใจ เป็นต้น ทำให้การดำเนินโรครุนแรงขึ้น และต้องรักษาตัวนาน บางรายทำให้ต้องล้างไต 24 ชั่วโมง ดังนั้นขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
- 76 views