สำนักงานประกันสังคมย้ำกองทุนมีเสถียรภาพ แม้จ่ายเงินว่างงาน เพราะมีกองทุนเฉพาะเพียงพอ ส่วนกรณีจ่ายว่างงานล่าช้า อยู่ระหว่างดำเนินการ และติดตามนายจ้างกว่า 5 หมื่นสถานประกอบการให้รรับรองสิทธิลูกจ้างกว่า 5 แสนคน
จากกรณีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวความมั่นคงเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม และการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยล่าช้า
วันที่ 3 พ.ค. นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวชี้แจงต่อความกังวลของผู้ประกันตนและสื่อมวลชนในประเด็นเงินกองทุนประกันสังคมทั้งหมดกว่า 2 ล้านล้านบาทหายไปไหนกองทุนมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน และกรณีอื่นๆ หรือไม่นั้น ขอเรียนว่า กองทุนว่างงาน ปัจจุบันมีเงินกองทุนว่างงานอยู่จำนวนกว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งมีเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ประมาณการเบื้องต้น พบว่า จากจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 1.2 ล้านคน คาดว่าจะคิดเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 20,000 - 30,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานฯ มีเงินกองทุนเพียงพอ ที่จะนำไปจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้เตรียมสำรองสภาพคล่องไว้รอการจ่ายเงินแล้ว ขอให้ผู้ประกันตนวางใจว่ากองทุนมีเงินกองทุนเพียงพอ นอกจากนี้ เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ยังอยู่ครบถ้วน มิได้หายไปไหน
เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ 31 มีนาคม 2563 จำนวน 2,032,841 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ จำนวน 1,671,176 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของเงินกองทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ อาทิ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ จำนวน 361,665 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของเงินกองทุน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนหลักทรัพย์มั่นคงอย่างน้อย ร้อยละ 60 ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่สร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้กับกองทุน
"และประเด็นกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมที่ล่าช้า ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการนำเรื่องการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ โดยกฎหมายได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ ที่ 17 เมษายน 2563 เวลา 18.30 น ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเริ่มทยอยจ่ายเงินกรณีว่างงาน ให้ผู้ประกันตนกลุ่มแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2563 จนกระทั่งปัจจุบันสรุปข้อมูล ณ วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิจำนวน 1,177,841 ราย ได้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วทั้งสิ้น 426,358 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 243,974 ราย และอยู่ระหว่างติดตามนายจ้างจำนวนกว่า 50,000 สถานประกอบการให้เข้ามารับรองสิทธิลูกจ้างจำนวน 507,509 ราย" โฆษกฯ กล่าว
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของทุกส่วนราชการของกระทรวงแรงงาน เร่งระดมประสานงานติดตามนายจ้างจำนวนกว่า 50,000 ราย ให้เข้ามารับรองการหยุดงาน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมจะได้ออกหนังสือแจ้งนายจ้างให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว เพื่อไม่ให้ลูกจ้างเสียสิทธิ์ จากการติดตามพบว่า
- มีประมาณร้อยละ 20 เป็นสถานประกอบการที่เปิดทำการปกติและจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
ประมาณการลูกจ้างจำนวนกว่า 100,000 คน
- มีประมาณร้อยละ 10 เป็นสถานประกอบการที่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ประมาณการลูกจ้างจำนวนกว่า 200,000 คน
- คงเหลือจำนวนลูกจ้างที่คาดว่าจะมีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมกำลังเร่งให้นายจ้างดำเนินการรับรอง สั่งจ่ายในกลุ่มนี้อีกกว่า 200,000 ราย
ทั้งนี้ขอเรียนชี้แจงแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนว่าการรับเงินว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัยนั้นจะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราวและไม่จ่ายเงินค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้างประกอบกับลูกจ้างนั้นจะต้องจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไขในการขอรับสิทธิ์ประโยชน์กรณีว่างงานคือมีการนำส่งเงินสมทบครบหกเดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนย้อนหลัง ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมมีกรอบในการปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงต้องขออภัยหากการดำเนินการจะไม่สามารถเป็นไปตามที่นักวิชาการหรือผู้มีความเห็นต่างๆ ได้แนะนำภายในระยะเวลาอันรวดเร็วภายใต้วิกฤตเช่นนี้ อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมขอน้อมรับที่จะนำไปปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆที่ทุกท่านได้มีความเห็นเสนอมา
- 116 views