สปสช.รณรงค์คนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เผยจากสถานการณ์โควิด 19 ปีนี้ เร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น เริ่มให้บริการ 1 พ.ค. นี้ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เว้นพื้นที่ กทม. เปิดลงทะเบียนจองสิทธิฉีดวัคซีนล่วงหน้าก่อนเปิดให้บริการฉีดวัคซีน 1 มิ.ย. 63
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน พบได้บ่อยในประชากรทุกกลุ่มอายุ อาการเริ่มตั้งแต่มีไข้ น้ำมูกไหล จนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ พบอัตราป่วยราวร้อยละ 10-20 ของประชากร โดยกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิต หากไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้จะทำให้โรงพยาบาลต้องรับภาระในการดูแลผู้ป่วย ก่อให้เกิดความสูญเสียในด้านเศรษฐกิจด้านการรักษาพยาบาลตามมา
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บรรจุบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และในปี 2563 นี้ สปสช.ได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 4 ล้านโด๊ส สำหรับให้บริการประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยเป็นวัคซีนผลิตจากเชื้อไวรัส 3 สายพันธุ์ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) มีการระบาดมากในประเทศไทยและทั่วโลก ดังนี้ สายพันธุ์ A/Brisbane/02/2018 (H1N1)pdm09-like virus; สายพันธุ์ A/South Australia/34/2019 (H3N2)-like virus; และสายพันธุ์ B/Washington/02/2019-like (B/Victoria lineage) virus
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 โดยผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และมีกลุ่มเสี่ยงภาวะรุนแรง เสียชีวิต เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเดียวกัน ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง และป้องกันความสับสนในการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 สปสช.ขอเชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ร่วมรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด ที่หน่วยบริการภาครัฐและหน่วยบริการเอกชนที่ร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน (หมายถึง กลุ่มเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็ม จนถึงอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน) 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7) โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ทั้งนี้ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เมื่ออายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป สปสช.ได้จัดเตรียมวัคซีนไว้สำหรับทุกคน โดยสามารถขอรับการฉีดวัคซีนได้ตลอดทั้งปี ไม่จำกัดเฉพาะช่วงการรณรงค์เท่านั้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในปีนี้ สปสช.เขต 13 กทม. ได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีน ด้วยการลงทะเบียนจองสิทธิรับวัคซีนผ่านไลน์ @ucbkk สร้างสุข โดยเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม นี้ และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ตามวันเวลาและหน่วยบริการที่ได้ลงทะเบียนไว้ในระบบ ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าได้รับบริการฉีดวัคซีนแน่นอนเมื่อไปถึงหน่วยบริการ ขณะเดียวกันยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช.1330
- 131 views