ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญ WHO ชี้งานวิจัยฝรั่งเศสอ้างอิงสูบบุหรี่ทำติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ไม่น่าเชื่อถือ!! เหตุวิธีวิจัยไม่ได้มาตรฐาน เป็นการตั้งธง-ชี้นำผลวิจัย
วันที่ 30 เม.ย. นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยของประเทศฝรั่งเศสว่า การสูบบุหรี่ช่วยป้องกันการติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าจากการตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว พบว่ายังไม่มีบทสรุปงานวิจัย หรือแม้แต่หลักฐานที่ยืนยันว่าเป็นจริงตามที่ได้มีการเผยแพร่แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังเป็นเพียงแค่การตั้งสมมติฐาน เพื่อเตรียมการไปสู่การทำวิจัยของนักวิจัยรายหนึ่งเท่านั้น โดยยังไม่มีข้อสรุปใดๆ จากงานวิจัยดังกล่าวเลย
“นอกจากนี้การวางแผนการทำวิจัยนี้ยังมีระเบียบวิธีวิจัยที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่มีจำนวนตัวอย่างผู้ป่วยน้อย และเป็นการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลเพียงแห่งเดียว อีกทั้งรายงานยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบถึงความถูกต้องตามหลักวิชาการ และที่น่ากังวลที่สุดสำหรับงานวิจัยนี้ คือ ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ที่ส่งผลต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงขึ้น” นพ.ชยนันท์ กล่าว
ด้าน ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมกับคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก เมื่อวานนี้ ซึ่งมีการปรึกษาหารือในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารนิโคติน กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นงานวิจัยของประเทศฝรั่งเศสขึ้นหารือ ซึ่งที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า การอ้างอิงว่าการสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ถือเป็นงานวิจัยที่ไม่น่าเชื่อถือ มีอคติในระเบียบวิจัยการเลือกสุ่มตัวอย่าง เพราะเลือกเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่อายุน้อย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำอยู่แล้วและรู้จักการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อโควิค-19 ที่ดีกว่าปกติ ซึ่งเท่ากับเป็นการตั้งธงหรือชี้นำผลวิจัยไปในทางใดทางหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นการวิจัย
ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอเน้นย้ำไปยังประชาชนอย่าหลงเชื่อการเผยแพร่ข้อมูลวิจัยที่พยายามเชื่อมโยงว่าการสูบบุหรี่ช่วยลดการติดเชื้อโควิด-19 แต่ควรใช้โอกาสนี้ในการเลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเข้าสู่ร่างกาย
- 137 views