บทความนี้สรุปมาจากบล็อกโพสต์ของ Tomas Pueyo โดยเลือกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจเท่านั้น อ่านบทความเต็มได้ตามลิงค์ข้างล่าง
การล็อกดาวน์ในหลายๆ ประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรน่า ได้นำเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน พนักงานหลายสิบล้านคนในธุรกิจค้าปลีก บันเทิง อาหาร บริการส่วนบุคคล การศึกษาและภาคอื่นๆ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการอิสระ ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักในระยะเวลาอันรวดเร็ว การล็อกดาวน์แม้จะหยุดการระบาดของไวรัสได้อย่างชะงัด แต่อาจต้องจ่ายด้วยราคาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูง ทำให้รัฐบาลต่างๆ กำลังหาทางออกว่าจะทำอย่างไรจึงจะไม่ทำร้ายเศรษฐกิจและสกัดการกระจายของโรคได้
เศรษฐกิจหลังการระบาด 3 แบบ
เส้นสีเขียว เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ (V-shape)
เส้นสีส้ม การเติบโตทำได้เหมือนที่เคยทำ แต่สูญเสีย GDP ไปมาก ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับไปสู่ระดับเดิม (U-shape)
เส้นสีแดง เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และหลังจากนั้นก็มีปัญหาบางอย่างทำให้กลับไปสู่การเติบโตระดับเดิมไม่ได้ (U-shape)
โดยผู้เขียนเชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะกลับสู่ภาวะปกติ โดยให้เหตุผลว่า แม้ว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 ทำให้ GDP ของสหรัฐฯ ลดลงโดยเฉลี่ย 6% และการบริโภคลดลง 8% ต่อปี แต่สำหรับระบาดของโรคหวัดแบบอื่นๆ ในศตวรรษที่ 20 นั้นประวัติศาสตร์สอนเราว่าหลังจบการระบาดแล้ว เศรษฐกิจสามารถกลับสู่ภาวะปกติ การตัดสินใจของเราในวันนี้จะมีผลกระทบอย่างมากในปีนี้และปีหน้า แต่ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นผ่านไปไม่กี่ปีผลกระทบจะน้อยลง
จะปิดหรือจะเปิดเมือง นั่นคือปัญหา
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 1918 เมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ มีระดับป้องกันการแพร่ระบาดที่แตกต่างกัน เมืองอย่างฟิลาเดลเฟียนั้น ตอนแรกไม่มีมาตรการอะไรเลย พอออกมาตรการก็ล่าช้าและทำแค่ช่วงสั้น เมืองอื่นๆ เช่นเซนต์หลุยส์ ประกาศใช้มาตรการอย่างรวดเร็วและเป็นระยะเวลานาน ผู้เขียนเคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาแล้วในบริบทของอัตราผู้เสียชีวิต แต่เมื่อวันที่ 26 มีนาคมมีบทความทางวิชาการ #ทำการเปรียบเทียบมาตรการป้องกันการระบาดเหล่านี้กับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ
หมายเหตุผู้แปล: มาตรการที่กล่าวถึงในบทความนี้ นำมาจากงานของ Howard Markel, Harvey Lipman และ Alexander Navarro ในปี 2007 ที่กล่าวถึง มาตรการการป้องกันโรคแบบไม่ใช้ยาดำเนินการโดยเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาในช่วงระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 1918-1919 โดยมาตรการส่วนใหญ่เป็น การปิดโรงเรียน การห้ามการชุมนุมหรือกิจกรรมที่รวมตัวกัน และการแยกและกักกันผู้ป่วย รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เช่นงการปรับเปลี่ยนตารางการทำงาน การจำกัดการเปิด-ปิดของธุรกิจข้อ การจำกัดด้านขนส่งมวลชน การสื่อสารเรื่องความเสี่ยงต่อสาธารณะ และการใช้หน้ากาก
ถ้าหากมาตรการป้องกันการระบาดส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจจริง เมืองที่มีอัตราการตายสูงกว่า (เพราะไม่ได้ป้องกันอะไร ใช้ชีวิตตามปกติ) ควรจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองที่ใช้มาตรการ แต่นักวิจัยกลับพบผลแบบตรงกันข้าม เมืองที่ใช้มาตรการแบบเข้มข้นกว่า กลับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเมืองที่มีมาตรการหละหลวม
จุดสีแดงคือเมืองที่มีมาตรการทางสังคมที่อ่อนแอกว่าเมืองอื่นๆ โดยเฉลี่ย จุดสีเขียวคือเมืองที่มีมาตรการทางสังคมที่แข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ย แกนนอนคืออัตราการเสียชีวิตจากโรค แกนตั้งค่าคืออัตราการจ้างงาน (เป็นตัวบ่งชี้สภาพเศรษฐกิจ) เส้นสีดำคือแนวโน้มที่บอกว่าอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้นสัมพันธ์กับการจ้างงานที่น้อยลงหลังจากการระบาด
จะเห็นว่าจุดสีเขียวคือเมืองที่มีมาตรการเข้มข้น ส่วนใหญ่อยู่ที่มุมบนซ้าย (ผู้เสียชีวิตน้อย - การเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น) และจุดสีแดงคือเมืองที่มีมาตรการหละหลวมจะอยู่ที่มุมล่างขวา (ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น - การเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง) แปลว่า ยิ่งมีผู้คนเสียชีวิตมากเท่าใด เศรษฐกิจก็ยิ่งอ่อนแอลงในเวลาต่อมามากขึ้นเท่านั้น
เนื่องจากไวรัสดังกล่าวเริ่มระบาดในแต่ละเมืองไม่พร้อมกัน บางเมืองจึงมีเวลาเรียนรู้จากเมืองอื่น และใช้มาตรการที่แข็งแกร่งและรวดเร็วกว่า หรือเมืองที่รวยกว่าสามารถจัดการกับวิกฤตด้านสุขภาพได้ดีกว่า นักวิจัยจึงได้ควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความหนาแน่น ความมั่งคั่งจำนวนประชากร ฯลฯ ในการวิเคราะห์แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น #ความรวดเร็วในการออกมาตรการ และ#ระยะเวลาในการใช้มาตรการ ก็มีผลดีต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ด้วย ทั้งการเติบโตของการจ้างงาน การเติบโตของมูลค่าการผลิต และการเติบโตของสินทรัพย์ในธนาคาร
คณะนักวิจัยสรุปว่า
การแพร่ระบาดของโรคมีผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจอย่างมาก และมาตรการการป้องกันโรคแบบไม่ใช้ยา (non-pharmaceutical interventions - NPIs) สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตและมีผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า เมืองที่เริ่มใช้มาตรการป้องกันและทำเข้มข้นกว่า จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่าหลังการระบาด
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรครุนแรงกว่านั้น จะมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม มีผลผลิตทางอุตสาหกรรม สินทรัพย์ของธนาคารที่ลดลง และเป็นการลดที่ยาวนาน (ปี 1919 ถึง 1923)
เมืองที่เริ่มทำการป้องกันก่อนจะเริ่มการระบาด 10 วัน มีการเพิ่มการจ้างงานภาคการผลิต 5% หลังจบการระบาด ในทำนองเดียวกัน การใช้มาตรการป้องกันให้นานขึ้นอีก 50 วัน มีการเพิ่มการจ้างงานภาคการผลิต 6.5% หลังการระบาด
แต่ต้องไม่ลืมว่าการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 แตกต่างจากโรคโควิด-19 ในปี 2020 อยู่มาก ทั้งเรื่องกลุ่มเสี่ยง อัตราการเสียชีวิต ระบบการดูแลสุขภาพ ลักษณะการทำงาน การแพร่กระจายของไวรัส เราไม่มีทางรู้ว่ารอบนี้จะเป็นอย่างไร แต่หลักฐานทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ชี้ว่ามาตรการการเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นหลังการระบาดมากกว่าทำให้แย่ลง
#บทเรียนจากจีน
ณ จุดนี้เราอาจจะมีตัวอย่างเรื่องการควบคุมการระบาดและเศรษฐกิจจากจีนเท่านั้น เมื่อจีนประกาศปิดเมืองหูเป่ยช่วงปลายเดือนมกราคม ตลาดหุ้นก็ตื่นตระหนก แล้วก็เริ่มดีดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพอถึงต้นเดือนมีนาคมตลสดก็กลับมาเกือบถึงปกติเกือบจะเท่ากับปีก่อน แปลว่านักลงทุนเชื่อว่าการปิดเมืองขนาด 60 ล้านคนแทบจะไม่มีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ พอโควิด-19 เริ่มระบาดทั่วโลก นักลงทุนก็เริ่มกังวลอีกครั้ง คำถามคือพวกเขาให้ความสำคัญกับต้นทุนของการล็อคดาวน์ไหม คำตอบคือ ไม่มากเท่าไหร่ ในวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ดีดตัวขึ้นเช่นกัน
แม้เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่เราต้องตระหนักว่าเรากำลังทำการตัดสินใจ ที่อาจต้องจ่ายด้วยชีวิตคนหลายล้านชีวิตด้วยข้อมูลที่น้อยมาก และจากหลักฐานทั้งหมดที่เรามีอยู่ตอนนี้ ชี้ให้เห็นว่า
การระบาดใหญ่ของโรคต่างๆ ในศตวรรษที่ 21 มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น
การป้องกันการระบาดที่รวดเร็วและการใช้มาตรการระยะยาว อาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
การล็อคดาวน์เมืองหูเป่ยที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ เพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ตลาดหุ้นจีนกลับสู่ระดับเดียวกับก่อนล็อคดาวน์
ดูเหมือนว่าการใช้มาตรการที่เข้มข้นนั้นจะดีกว่าการใช้มาตรการที่ผ่อนคลายมากเกินไป
#หนึ่งชีวิตคิดเท่าไหร่
หลายคนอาจจะบอกว่าชีวิตคนที่รักษาไว้ได้เอามาตีค่าเป็นเงินไม่ได้ ผู้เขียนบทความนี้พยายามทำการคำนวณตัวเลขนี้ โดยใช้ข้อมูลจากบริษัทประกันและระบบสุขภาพ ซึ่งมีวิธีการคำนวณราคาของชีวิตคนไว้ โดยตั้งคำถามว่า เรายอมจ่ายเงินเท่าไรเพื่อยืดอายุเราไปอีก 1 ปี สำหรับระบบสุขภาพในสหรัฐอเมริกา จำนวนนั้นอยู่ระหว่าง 50,000 - 150,000 เหรียญต่อปี ถ้าอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือ 78 และคนเหล่านี้จะมีชีวิตต่อไปอีก 10 ปี แปลว่าเราสูญเสียค่าชีวิตไป 1.5 ล้านเหรียญ ต่อผู้เสียชีวิต 1 คน (10 ปี x 150,000 เหรียญต่อปี)
จากบทความเดิมผู้เขียนได้คำนวณไว้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการใช้มาตรการแบบผ่อนคลาย (mitigation) น่าจะมีประมาณ 5 แสนถึง 10 ล้านคน เทียบกับการใช้มาตรการแบบเข้มข้น (suppression) ที่จะมีผู้เสียชีวิต 10,000 ถึง 50,000 คน ราคาของชีวิตที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายจะอยู่ระหว่าง 750 พันล้าน และ 15 ล้านล้านเหรียญ (นับเป็น 4% ถึง 75% ของ GDP สหรัฐฯ)
จากข้อมูลที่ยกมาทั้งหมด จะได้ข้อสรุปที่น่าประหลาดใจว่ามาตรการแบบเข้มข้นอาจจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาตราการแบบผ่อนคลายก็ได้
#หมายเหตุผู้แปล:
ผู้อ่านต้องเข้าใจบริบทของผู้เขียนซึ่งเป็นชาวสหรัฐอเมริกา ว่าประเทศของเขาไม่ได้มีมาตรการป้องกันการระบาดที่เข้มข้นทั่วประเทศ เหมือนเมืองไทย นอกจากนี้ผู้นำของสหรัฐฯ ก็ยังมีความลังเลที่จะประกาศใช้มาตรการป้องกันที่เข้มข้นเพราะเกรงว่าจะกระทบเศรษฐกิจ
John Kemp นักวิเคราะห์ตลาดของรอยเตอร์ส กล่าวว่าบทความของ Correia, Luck และ Verner ที่ผู้เขียนนำมาอ้าง ต้องแปลผลด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 อยู่ในบริบทของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 การแยกแยะผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดออกจากการถอนกำลังหลังสงครามทำได้ยาก
ส่วนมาตรการป้องกันการระบาดในปี 1918 มีความเข้มข้นน้อยกว่ามาตรการที่ทำอยู่ในปัจจุบันพอสมควร เช่นไม่มีเรื่องการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่นำมาใช้อาจไม่ละเอียดเท่ากับปัจจุบัน เช่นมีแต่ข้อมูลรายปี แต่ไม่มีแบบรายเดือน
ท้ายสุด John Kemp กล่าวว่า ผู้ออกนโยบายต้องพิจารณาข้อมูลควรระมัดระวัง ก่อนที่จะด่วนสรุปว่า การปิดเมืองเพื่อช่วยชีวิตคนนั้น จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเศรษฐกิจเลย
แปลและสรุปใจความโดย ดร.จิตติพร ฉายแสงมงคล 28/4/2020
อ้างอิง
- 555 views