งานวิจัยเผยคนไทยฆ่าตัวตายจากวิกฤตโควิด-19 เท่ากับคนติดเชื้อโควิดเสียชีวิต หลังเจอกระทบจากมาตรการปิดเมือง สะท้อนรัฐบาลล้มเหลว ควบคุมเข้มงวด แต่ไม่มีมาตรการเยียวยาทันท่วงที คณะวิจัยฯ ชี้ข่าวประชาชนฆ่าตัวตายจากพิษโควิด-19 ไม่ควรเกิดขึ้นอีก การช่วยเหลือต้องถ้วนหน้า ไม่ใช่สงเคราะห์เพียงบางคน พื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูง ต้องมีการ “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” ยกเลิกใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ทั้งการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน การข่มขู่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563 โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง (ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แถลงผลการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 พร้อมข้อเสนอแนะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสังคมไทย รัฐบาลได้เลือกใช้มาตรการอย่างเข้มงวดและรุนแรงในการควบคุมโรค เช่น นโยบายการปิดห้างสรรพสินค้า, การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”, การปิดเมือง หรือ lockdown ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนได้อย่างเสรี, การปิดสถานบันเทิง การปิดตลาดนัด ไม่อนุญาตให้นั่งในร้านขายอาหาร ฯลฯ ในด้านหนึ่ง ดูราวกับว่าสังคมไทยจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุของไวรัสโควิด-19 มีจำนวนที่น้อยลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน 2563 แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับพวกเราทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน และมีข้อมูลที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา เนื่องจากมาตรการของรัฐมุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โครงการวิจัยฯ มีสมมติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ เช่น เวปไซต์มติชน, ไทยรัฐ, ผู้จัดการ, อัมรินทร์, one ช่อง 31 เป็นต้น
จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย ดังกราฟเปรียบเทียบข้างล่างนี้
จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน, การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด, การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฎกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรงจนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของผู้ที่ทำการฆ่าตัวตายจะพบว่า
- เป็น เพศชาย จำนวน 27 ราย เพศหญิง จำนวน 11 ราย
- เป็น ลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นต้น
เป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจรายย่อย จำนวน 3 ราย
- อายุเฉลี่ย 40 ปี
ข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมืองซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที และผู้ประกอบการรายย่อยเป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและมีบทบาทสำคัญในการเป็นเสาหลักหรือรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายของครอบครัว ดังนั้น เมื่อต้องเผชิญกับการตกงานหรือไม่มีงานทำอย่างเฉียบพลันก็นำมาซึ่งแรงกดดันอันไพศาลทั้งต่อตนเองและครอบครัว
จากข้อมูลที่ได้รวบรวมและนำเสนอเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายจากไวรัสโควิด-19 คณะนักวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ดังนี้
ประการแรก รัฐบาลควรตระหนักให้มากกว่านี้ว่า การฆ่าตัวตายของประชาชนเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่กลับไม่มีมาตรการในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมประชาชนที่เดือดร้อนทุกกลุ่ม เราหวังว่า รัฐบาลจะมีมโนธรรมสำนึกและพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นอีก อย่างน้อยต้องมีการจัดเตรียมสายด่วนให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสได้แจ้งปัญหาและมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ก่อนที่ประชาชนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายไปมากกว่านี้ ข่าวประชาชนฆ่าตัวตายจากพิษโควิด-19 ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกนับแต่นี้เป็นต้นไป
ประการที่สอง รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิด “ช่วยเหลือให้ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ “สงเคราะห์เพียงบางคน” การเรียกร้องให้ประชาชน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพียงด้านเดียว แต่การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที จะทำให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและข้างทางเป็นจำนวนอันไพศาล มาตรการเยียวยาจึงต้องชัดเจนและฉับไวมากขึ้น รวมทั้งการกระจายปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นระบบ มิใช่รอให้เป็นการแจกจ่ายในหมู่ประชาชนแต่เพียงอย่างเดียว
ประการที่สาม ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จำเป็นต้องมีการ “เปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ” เช่น ตลาด ร้านค้ารายย่อย เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนพอมีพื้นที่ทำมาหากินเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ ช่วงเวลาที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าหากมีการจัดการที่มีระบบและด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งประชาชน องค์กรเอกชน และหน่วยงานรัฐ ก็จะสามารถมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ไปพร้อมกัน
ประการที่สี่ รัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่างๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากในการแจกจ่ายอาหารของประชาชน, การข่มขู่ว่าจะมีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินต่อผู้ประสงค์จะแจกอาหาร, การจับกุมคนไร้บ้านด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, , การจับกุมและลงโทษบุคคลด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกันในการกระทำเดียวกัน เป็นต้น
แน่นอนว่าการรับมือกับไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันการใช้มาตรการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ก็ควรต้องเป็นไปเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถก้าวพ้นจากปัญหาไปได้ รัฐบาลไม่ควรใช้นโยบาย กฎหมายหรือมาตรการอย่างเข้มข้น จนสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในระดับที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ หารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว
การดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นแต่การควบคุมโรคโดยปราศจากความรู้และความเข้าใจถึงชีวิตของประชาชนคนธรรมดา อาจทำให้เราได้สังคมที่หลุดพ้นไปจากไวรัสโควิด-19 หากแต่จะดาษดื่นไปด้วยซากศพของประชาชนในระหว่างทาง กรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจนับว่าสังคมไทยประสบความสำเร็จในการเผชิญหน้ากับการรับมือกับโรคร้ายครั้งนี้แต่อย่างใด
คณะนักวิจัย โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง (ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
1. ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ
6. ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
7. ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
- 292 views