นักข่าวฟิลิปปินส์ - อินโดฯ – มาเลย์ ย้ำบทบาท “สื่อ” สำคัญ ยุติข่าวปลอม ห่วงรัฐบาลอาศัยอำนาจพิเศษละเมิดสิทธิ์ประชาชนช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด
วันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม และกลุ่ม CoFact หรือ Collaborative Fact Checking แพลตฟอร์มใหม่ของภาคพลเมืองในการตรวจสอบข่าวลวง ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง How to handle Covid-19 infodemic in Asia? หรือ จะรับมือข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด – 19 ในเอเชียได้อย่างไร โดยมีสื่อมวลชนจากหลายประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรายงานข่าว และการรับมือกับข่าวปลอมในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
เอนดี บายูนี (Endy Bayuni) บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ “ข่าวปลอม” ในรอบนี้ในอินโดนีเซีย ถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับการเลือกตั้ง หรือเรื่องการเมืองที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องของความแตกแยก การใส่ร้ายป้ายสี และความรุนแรง โดยในรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคแบบแปลกๆ หรือข่าวปลอมเรื่องอาสาสมัครที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ซึ่งไม่เป็นความจริงเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ระบุว่ามีข่าวปลอมทั้งหมด 1,096 ชิ้น ได้ขอให้เฟซบุค นำข่าวปลอมออกทั้งหมด 759 โพสต์ แต่ในที่สุด เฟซบุค ได้เอาออกทั้งหมด 303 ข่าวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่เฟซบุค แต่อยู่ที่แอปพลิเคชันที่เป็นการส่งข้อความแบบ Instant Messaging ระหว่างบุคคล อย่าง Whatsapp มากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล และมักจะเป็นตัวกลางชั้นดีในการกระจายข่าวปลอม
นอกจากนี้ เอนดี ยังได้แสดงความกังวลว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้อาศัย “อำนาจพิเศษ” ในช่วงภัยพิบัติ ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจเต็มมากกว่าห้วงเวลาปกติ ในการจับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล โดยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจได้จับตัวชายคนหนึ่ง ในข้อหาปลุกระดม สร้างความวุ่นวาย และในหลายครั้ง รัฐบาลอินโดนีเซียเองก็แชร์ “ข่าวปลอม” เพื่อสร้างความเชื่อมั่น หรือสร้างผลดีให้กับรัฐบาล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่าประเมินสถานการณ์ต่ำไป รวมถึงรับมือได้ไม่ดีนัก จนทำให้โควิด-19 ระบาดหนักในอินโดนีเซีย จนมีอัตราตาย 8.7% สูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เพราะฉะนั้น ช่วงเวลานี้ การทำหน้าที่สื่อมวลชนจึงสำคัญมากในการตรวจสอบข้อมูล ตรวจสอบข่าวลวง - ข่าวปลอม รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ และในอีกแง่หนึ่งก็ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามไปด้วย
ขณะที่อดัม คูเปอร์ (Adam Cooper) ผู้จัดการอาวุโสศูนย์ประสานงาน การพูดคุยเพื่อมนุษยธรรม (Centre for Humanitarian Dialogue) กล่าวว่า การไหลเวียนของข่าวลวงจำนวนมาก ทำให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จัดการกับข่าวลวงไม่ไหว อย่างไรก็ตาม ได้เห็นความพยายามในการมีส่วนร่วมจัดการข่าวลวงเช่นกัน ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกาเอง หากเปิดกูเกิล หรือเฟซบุค ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 จากสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือจากองค์การอนามัยโลกที่เชื่อถือได้ จะขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ หรือในยูเครน องค์การอนามัยโลก ก็มี Chatbot ไว้ตอบคำถามเป็นภาษารัสเซีย ซึ่งสามารถจัดการกับข่าวปลอม และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องได้พอสมควร
แต่ที่เป็นปัญหาก็คือ ในประเทศที่รัฐขาดความชอบธรรม และความน่าเชื่อถือนั้น ข้อมูลข่าวสารที่มาจากรัฐเองจะขาดความน่าเชื่อถือตั้งแต่ต้น และข่าวสารใดๆ ที่รัฐแถลงออกมา ประชาชนจะไม่เชื่อ และไม่ทำตาม ซึ่งตรงนี้ ภาคประชาสังคม จะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบที่มาข่าว และเผยแพร่ข้อเท็จจริงเป็นวงกว้าง โดยภาคประชาสังคม จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์แบบนี้
อดัม กล่าวอีกว่า ความท้าทายอีกอย่างก็คือ มีความ “อคติ” เรื่องเชื้อชาติ - ศาสนา อยู่มากพอสมควร ในโซเชียลมีเดีย เช่น การบอกว่าพิธีกรรมทางศาสนา เป็นตัวกระจายการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจุดนี้ ภาคประชาสังคม และกลุ่มตรวจสอบข่าวลวง อาจต้องสื่อสารหนักขึ้นเพื่อลดอคติ และความเข้าใจผิด ไม่ให้เกิดความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ - ศาสนา ในเวลาแบบนี้
คริสเตียน ทากส์ (Christian Taaks) ผู้แทนมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประจำเกาหลีใต้ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ สามารถจัดการกับโคโรนาไวรัส 2019 ได้ดีก็คือ “ความโปร่งใส” โดยรัฐบาลเกาหลี ได้เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี เรื่องร้าย หรือเรื่องที่เป็นผลลบกับรัฐบาล และในเวลานี้ ก็ให้เสรีภาพกับสื่อมวลชนในการรายงานข่าวอย่างเต็มที่ ไม่สนว่าจะกระทบกับรัฐหรือไม่
“สิ่งสำคัญก็คือ หน่วยงานควบคุมโรคนั้น บอกความจริงกับประชาชนหมดว่า สถานการณ์จะเป็นอย่างไร และรัฐบาลกำลังทำอะไร ขณะเดียวกัน รัฐบาลกลางก็ใช้เครื่องมือทั้งโฮมเพจ โซเชียลมีเดีย และรัฐบาลท้องถิ่นก็ใช้ SMS สื่อสารกับประชาชนตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อทุกอย่างโปร่งใส ไม่มีอะไรปกปิด ประชาชนก็ได้รับรู้ข้อมูลทุกอย่าง ประเมินสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริง” ผู้แทนมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ประจำเกาหลี ระบุ
คริสเตียนบอกอีกว่า รัฐบาลเกาหลีนั้น ยึด 4 หลักการสำคัญ คือ 1.ความโปร่งใส 2.การติดตามสอบสวนการระบาดอย่างละเอียด 3.การตรวจเชิงรุก และ 4.การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีมุน แจ อิน ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูงในการจัดการ “วิกฤต” และทำให้ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอีกครั้ง จากเดิมที่คะแนนของรัฐบาลตกต่ำมาโดยตลอด
ปรีเมช จันทรัน (Premesh Chandran) ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มาเลเซียกินี ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซีย นั้นเปลี่ยนก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตเพียง 1-2 สัปดาห์ และหลังจากได้นายกรัฐมนตรีใหม่คือ มุฮ์ยิดดิน ยัซซิน ก็เกิดวิกฤต ทำให้ต้องตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศทันที อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดในรอบนี้ก็คือ รัฐบาลกังวลกับกระแสสังคมในโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก เมื่อเห็นว่ามาตรการตึงเกินไป ก็ผ่อนตามข้อเรียกร้องของโซเชียลมีเดีย และแพคเกจการเยียวยาภาคธุรกิจ - ประชาชนนั้น ก็ตามมาจากเสียงสะท้อนในโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ปรีเมช แสดงความกังวลว่า หากวิกฤตนี้ลากยาว จะส่งผลกระทบต่อภาคสื่อมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยขณะนี้ รายได้จากโฆษณา และยอดขายเอง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์ และสื่ออื่นๆ จะเลี้ยงตัวเองได้มากแค่ไหนหลังจากนี้
ด้านมาไรตส์ ไวทัก (Marites Vitug) บรรณาธิการเว็บไซต์ Rappler ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ในฟิลิปปินส์ มีแพลตฟอร์มในการตรวจสอบข่าวลวงหลายแพลตฟอร์ม โดย Facebook เอง ก็ร่วมมือกับกลุ่ม Vera Files ในการจัดการกับข่าวปลอม แต่ปัญหาก็คือ หลายครั้ง เจ้าหน้าที่รัฐ สส. หรือแม้แต่ตัวประธานาธิบดีเองก็แชร์ข่าวปลอม ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ได้กล่าวว่า เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ไม่สามารถตกค้างลงบนสิ่งของ หรือวัตถุต่างๆ หรือการบอกว่า ณ ขณะนี้ ทุกประเทศทั่วโลก อยู่ภายใต้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ซึ่งการที่บุคคลระดับประธานาธิบดีเชื่อข่าวปลอม และแชร์ข่าวปลอม ก็ทำให้หน่วยงานตรวจสอบ ต้องทำงานหนักขึ้น
อย่างไรก็ตาม สะท้อนได้ดีว่า ในเวลานี้ กลไกในการตรวจสอบข่าวปลอม ไม่ควรเป็นของรัฐ เพราะรัฐ มักจะสะท้อนมุมมองและตรวจสอบข่าวปลอมที่เป็นด้านบวกกับรัฐเท่านั้น จึงเป็นโอกาสดีที่ในเวลานี้ ภาคประชาสังคม จะรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อผนึกกำลังในการจัดการข่าวปลอม
ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CoFact เห็นตรงกันว่า กระบวนการตรวจสอบข่าวปลอม ควรจะเป็นภาคประชาสังคม มากกว่าจะให้หน่วยงานรัฐ เป็นผู้ตรวจสอบเพียงฝ่ายเดียว โดยยกตัวอย่างศูนย์ข่าวปลอม ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหลายครั้ง ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากฝ่ายตรงข้าม และในหลายข่าวที่เป็นผลลบกับรัฐบาล ก็เลือกที่จะไม่ตรวจสอบ หรือบอกว่าเป็นข่าวปลอม เช่น ข่าวการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือหน้ากากอนามัย ทั้งที่หลายพื้นที่ขาดแคลนจริง ซึ่งกลายเป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคม
เพราะฉะนั้น CoFact.org จึงเกิดขึ้น โดยเป็นการรวมองค์กรสื่อ หน่วยงานภาคประชาสังคมต่างๆ ในการเป็นสื่อกลางเพื่อตรวจสอบข่าวลวง ข่าวปลอม ไม่ให้รัฐผูกขาดหน้าที่ดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียว
เขียน : สุภชาติ เล็บนาค
- 204 views