ทั่วโลกเชื่อแรงงานข้ามชาติยังเป็นปัญหาใหญ่ เหตุนำพาโรค “ข้ามแดน” ไปมา เชื่อประเทศในภูมิภาคอาจต้องพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพร่วมกัน
เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ที่โรงแรมเซนทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ การประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในหัวข้อ No UHC without Migrant Health Coverage : Leaving No Migrant Behind หรือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ครอบคลุม “แรงงานข้ามชาติ” ออง ซอว์ เทท รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมาร์ ระบุว่า ปัญหาสำคัญของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเมียนมาร์คือ ยังมีสถิติด้านสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก คือมีสถิติการ “แท้งลูก” มากถึง 12.8% การใช้วิธีการ “คุมกำเนิด” สมัยใหม่ ก็ค่อนข้างน้อยกว่าประชากรทั่วไป โดยอยู่ที่ 34.3% เท่านั้น ขณะที่ประชากรเมียนมาร์ อยู่ที่ 51% ส่วนการเข้ารับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ค่อนข้างต่ำ มีเพียง 3.2% เท่านั้น
ทั้งนี้ ความท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรให้การจัดการปัญหาด้านสุขภาพข้ามแดน มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่มากขึ้น ภายใต้นโยบายที่เป็นเอกภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา การเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพของคนกลุ่มนี้
ขณะที่ อลิสแตร์ ชอร์ เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส มูลนิธิรักษ์ไทย หากไม่สร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงได้ ปัญหาด้านสุขภาพที่หายไปแล้ว จะกลับมาใหม่ ซึ่งการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นหนึ่งเดียว จะสามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้
สำหรับปัญหาใหญ่ของระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติคือ มีการแบ่งกลุ่มผู้ที่ครอบคลุมหลายระดับ และไม่ได้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกเชื้อชาติ ที่ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ตกหล่น ไม่ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขที่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นเวลายาวนาน จนมีบ้าน มีครอบครัวแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกัน แม้จะมีความพยายามสร้างระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงเกินไป ทำให้แรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถเข้าถึงระบบได้ กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกกีดกัน ออกจากการบริการสาธารณสุขอยู่ดี โดยการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “ระหว่างประเทศ” ร่วมกัน ในแต่ละประเทศ เพื่อดูแลคนกลุ่มนี้ร่วมกัน
ด้านเอดูราโด บันซอน อดีตซีอีโอของ PhilHealth หน่วยงานซึ่งดูแลระบบประกันสุขภาพของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในภูมิภาคต้องเป็นไปในรูปแบบ “ดิจิตัล” มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ข้ามแดนไปมา ให้ “ครอบคลุม” ให้หมด เพราะปัญหาสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือแรงงานข้ามชาติที่ไม่หยุดนิ่ง สามารถเคลื่อนไปมาได้เสมอ
นอกจากนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ควรที่จะครอบคลุมทั้งภูมิภาคผ่านระบบ “อิเล็กทรอนิกส์” โดยนำระบบเวชระเบียนใส่ไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ – บุคลากรทางการแพทย์อย่างรอบด้าน ครบถ้วนทุกประเทศในภูมิภาค
ขณะเดียวกัน ระบบการเงินการคลังของหลักประกันสุขภาพ ภายใต้แนวคิดแบบ One Health หรือ “สุขภาพหนึ่งเดียว” โดยบูรณาการระบบควบคุมโรคติดต่อ ระบบส่งเสริมสุขภาพ - ป้องกันโรค เข้าด้วยกัน จะทำให้การจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคนี้ เป็นไปอย่างเข้มแข็งขึ้น
- 274 views