เป็นที่ทราบกันดีว่าห้องฉุกเฉิน (Emergency Room: ER) เป็นแผนกหนึ่งในโรงพยาบาลที่วุ่นวายและงานหนักจนมีคำเรียกแบบประชดว่า ER หมายถึง Everything Room เพราะต้องรองรับผู้ป่วยสารพัดรูปแบบ นอกจากผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว ยังต้องรองรับผู้ป่วยทั่วไปที่มารับบริการหลังเวลาราชการ ทำให้ ER ในหลาย ๆ โรงพยาบาลมีความแออัด อีกทั้งสภาพการทำงานก็มีโอกาสเกิดความเครียดสูง การรับรู้ภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ก็แตกต่างกัน ในความรู้สึกของผู้ป่วยคิดว่าตัวเองป่วยฉุกเฉินขณะที่เจ้าหน้าที่ประเมินอาการแล้วคิดว่ายังรอได้ ทำให้มีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ซ้ำร้ายในระยะหลังยังลุกลามไปถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันก็มี ทั้งผู้ป่วยหรือญาติทำร้ายเจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยถูกคู่กรณีตามมาทำร้ายที่โรงพยาบาล
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองก็พยายามลดความแออัดโดยเปิดช่องให้แต่ละโรงพยาบาลสามารถเปิดให้บริการคลินิกนอกเวลาเพื่อแยกผู้ที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินออกมารับบริการในส่วนนี้ ทำให้ห้องฉุกเฉินเหลือเพียงผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ อย่างไรก็ดี มาตรการนี้ก็ช่วยบรรเทาได้ส่วนหนึ่งเพราะผู้ที่ไม่มีกำลังทรัพย์จะจ่ายค่าบริการคลินิกนอกเวลาก็สามารถมารับบริการที่ห้องฉุกเฉินได้ และการกระทบกระทั่งกันในห้องฉุกเฉินก็ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาระบบบริการและความปลอดภัยของบุคลากรในห้องฉุกเฉินจึงเป็นวาระที่หลายโรงพยาบาลให้ความสำคัญ โรงพยาบาลอุดรธานี ก็เป็นหนึ่งหน่วยบริการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการปฏิรูปห้องฉุกเฉินไปสู่การเป็น Smart ER โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นโมเดลระดับประเทศให้ได้
นพ.ณรงค์ ธาดาเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลอุดรธานี เป็น 1 ในโรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่งที่นำร่องพัฒนาห้องฉุกเฉิน ปัจจุบันมีผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน เวรเช้าเฉลี่ย 88 คน/วัน เวรบ่าย 90 คน/วัน และเวรดึกอีกประมาณ 60 คน/วัน แต่ถ้าเทียบกับอดีตตัวเลขจะสูงกว่านี้มากเพราะไม่ได้แบ่งผู้ป่วยออกไปรับการตรวจนอกเวลา ห้อง ER เดิมจึงมีสภาพเป็น Everything Room คือเป็นทุกสิ่งที่อยู่นอกเวลาราชการ ผู้ป่วยกลุ่มสีขาว เช่น เป็นหวัด ปวดหัวทั่วไป ก็เข้ามารับบริการ ทำให้เกิดความแออัด ผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริง ๆ ก็ไม่ได้รับบริการอย่างถูกต้องรวดเร็วทันเวลา
ด้วยเหตุนี้ทางโรงพยาบาลจึงได้ปฏิรูปคุณภาพการให้บริการในห้องฉุกเฉินให้เป็น Smart ER มุ่งเน้นลดความแออัดและระยะเวลารอคอย เน้นความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย (2P Safety) ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ
สำหรับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วนั้น ทางโรงพยาบาลได้พัฒนาโปรแกรม Smart ER ขึ้นมา โดยในการปฏิบัติงานจะบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 100% การตรวจผู้ป่วยก็จะใช้แท็ปเล็ต ส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เป็น IoT (Internet of Thing) ที่สามารถเชื่อมข้อมูลในฐานข้อมูลได้ แพทย์สามารถ Access เข้าไปดูข้อมูลได้จากทุกที่ ขณะเดียวกันก็จะเชื่อมต่อข้อมูลออกมาแสดงบนหน้าจอมอนิเตอร์หน้าห้อง ER และในห้องรอญาติ (Waiting Area) โดยจะแจ้งสถานะของผู้ป่วยให้ญาติทราบว่าอยู่ในขั้นตอนใดของการรักษาโดยอัพเดทแบบ Real Time
"ห้องฉุกเฉินห้ามญาติเข้า คนเป็นญาติก็เป็นห่วงว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลไหม เข้าไปแล้วมีคนดูแลหรือเปล่าหรือไปปล่อยทิ้งไว้ และอาจเกิดการแสดงออกทางอารมณ์ ซอฟต์แวร์นี้ก็ช่วยให้ญาติติดตามความคืบหน้า แจ้งว่าขณะนี้กำลังรอผลแล็บนะ ขณะนี้กำลังช่วยชีวิตนะ ฯลฯ โดยดูได้จากหน้าจอมอนิเตอร์หรือเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟนผ่าน QR code ก็ได้ ญาติก็จะได้ติดตามอาการของผู้ป่วยรายนั้นเสมือนได้มาอยู่ในห้องฉุกเฉิน ขณะที่แพทย์และพยาบาลก็จะได้ปฏิบัติงานได้สะดวกไม่มีญาติมารบกวน นี่คือเทคโนโลยีที่เรานำมาเชื่อมให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้เจอกันและสามารถลดความกังวลของญาติได้เป็นอย่างดี " นพ.ณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ระบบ Smart ER อยู่ในช่วงของการพัฒนาโดยเริ่มทดลองใช้งานเดือน พ.ย. 2562 และเตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เม.ย. 2563 ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากโรงพยาบาลใดสนใจนำระบบไปใช้ ทางโรงพยาบาลอุดรธานีก็ยินดีให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
ในส่วนของการลดความแออัดและปรับระบบบริการนั้น ได้มีการเปิดห้องตรวจนอกเวลาจำนวน 2 ห้องตรวจ ระหว่าง 16.00-24.00 น. เพื่อช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉิน ปัจจุบันมีผู้มารับบริการ 120 คน/วัน ส่วนในห้องฉุกเฉินจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนตามระดับความฉุกเฉินสีแดง สีชมพู สีเหลืองและสีเขียว โดยแยกห้องสังเกตอาการไว้ต่างหากอีกห้องหนึ่งเพราะถ้ามาสังเกตอาการในห้อง ER ก็จะทำให้เกิดความแออัดได้
"ในเรื่องบุคลากร เรามีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจำนวน 8 คน พยาบาลอีก 34 คน เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าผู้ที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินจะได้รับการดูแลตามมาตรฐานของวิชาชีพครบทุกเวร" นพ.ณรงค์ กล่าว
ในส่วนของ 2P Safety นั้น ที่ผ่านมาพบปัญหาความรุนแรงหลายรูปแบบ เช่น วัยรุ่นยกพวกมาตีผู้ป่วยหน้าห้อง ER สามีผู้ป่วยเมาสุราเข้ามาเอะอะโวยวายทำร้ายผู้ป่วยใน ER ญาติผู้ป่วยเอะอะโวยวาย ผู้ป่วยเมาสุราเอะอะโวยวายจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ญาติผู้ป่วยที่เป็นคู่กรณีทะเลาะวิวาทจากนอกโรงพยาบาลแล้วตามมาตีกันหน้า ER เป็นต้น โดยในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. 2562 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นถึง 6 ครั้ง ด้วยเหตุนี้จึงได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดตั้ง "สถานีตำรวจชุมชนโรงพยาบาลอุดรธานี" บริเวณหน้าห้อง ER โดยมีสายตรวจคอยแวะเวียนมาประจำ ถือเป็นสถานีตำรวจในโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย
"ตรงนี้เป็นเหมือนยันต์ พอมีสถานีตำรวจแล้ว ปรากฎว่าไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกเลย" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 นี้เป็นต้นไป ทางโรงพยาบาลจะปรับปรุงสถานที่ครั้งใหญ่ โดยมีกำหนดเสร็จภายในวันที่ 1 เม.ย. 2563 เพื่อเตรียมพร้อมรับเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง โดยจะขยายเตียงผู้ป่วยโซนสีแดง จาก 4 เตียงเป็น 8 เตียง แบ่งเป็น Trauma 3 เตียง Non-Trauma อีก 5 เตียง และในส่วนของ Trauma จะปรับปรุงสร้างห้องผ่าตัดอยู่ติดกัน มีประตูเปิดทะลุเข้าไปหาได้เลยเพื่อให้สามารถส่งผู้บาดเจ็บรุนแรงจาก ER ไป OR ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเคลื่อนย้ายจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง ขณะที่ผู้ป่วยโซนสีชมพูจะเพิ่มจาก 6 เตียงเป็น 10 เตียง และโซนสีเหลืองและเขียวปรับเหลือ 2 เตียง
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี กล่าวทิ้งท้ายว่า เหตุผลที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาห้องฉุกเฉินและระบบการบริการอย่างมากเพราะเรื่องฉุกเฉินเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต สิ่งอื่นรอได้แต่ห้องฉุกเฉินรอไม่ได้ ทุกเสี้ยววินาทีมีค่า ถ้าสามารถช่วยได้เร็วก็จะรักษาชีวิตคนไว้ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั่นเอง
เขียน : วิทยา ปะระมะ
- 2381 views