โมร็อกโกยกคณะดูงาน สปสช. สธ. รพ.สามพราน ย้ำไทยเป็นต้นแบบที่ดีในการจัดการระบบการเงิน - การคลัง เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โมร็อกโก ประเทศในทวีปแอฟริกาเหนือ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งมั่นว่าจะพัฒนาระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศให้ได้มากที่สุดภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของโมร็อกโก ซึ่งมี 2 ระบบ คือประกันสุขภาพโดยรัฐ (Public Insurance) และระบบสวัสดิการสงเคราะห์ สำหรับผู้ยากไร้ ยังครอบคลุมประชากรทั้งประเทศเพียง 63% ซึ่งหมายความว่า อีก 37% ยังคงตกหล่น เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ
นพ.อับเดอไลลาห์ บูทาเลบ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขโมร็อกโก
เพื่อบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น นพ.อับเดอไลลาห์ บูทาเลบ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขโมร็อกโก (Dr Abdeliah Boutaleb Secretary General at the Ministry of Health, Morocco) จึงได้ยกคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รวมถึง นพ.ฮาฟิด ฮาจรี ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำโมร็อกโก (Dr Hafid Hachri World Health Organization Country Office, Morocco) เข้าศึกษาดูงานระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ในฐานะประเทศตัวอย่าง ที่ “ประสบความสำเร็จ” ในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตั้งแต่ปี 2545
จุดหมายแรกอยู่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คณะจากโมร็อกโก ใช้เวลาศึกษาดูงาน 1 วันเต็ม เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้ตั้งแต่ปรัชญาของระบบ การบริหารงาน การจัดการงบประมาณ การจัดการการ “มีส่วนร่วม” ของภาคประชาชน การจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ไปจนถึงความร่วมมือกับสถานพยาบาลของเอกชน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขโมร็อกโก บอกว่า ประเทศไทยถือเป็นต้นแบบของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประสบความสำเร็จ แม้จะไม่ใช่ประเทศร่ำรวย โดยโมร็อกโก สามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่วิธีการตั้งต้นระบบให้ครอบคลุมประชากรให้มากที่สุด และที่สำคัญ ที่โมร็อกโกต้องการองค์ความรู้มากก็คือ วิธีการจัดการการเงิน - การคลัง ในระบบหลักประกันสุขภาพ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทย ทำสำเร็จมาเป็นระยะเวลานานแล้ว
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขโมร็อกโก ก็คือ เรื่องการจัดการ “ทรัพยากรบุคคล” โดยปัจจุบัน โมร็อกโก ยังคงขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขอยู่พอสมควร วัดจากจำนวนแพทย์ 0.5 คน ต่อประชากร 1,000 คน เตียงโรงพยาบาล 1 เตียง ต่อประชากร 1,000 คน และยังมีปัญหาการประท้วงจากบุคลากรสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มค่าตอบแทน รวมถึงลดภาระงานให้น้อยลง
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา โมร็อกโก เกิดปรากฏการณ์ “สมองไหล” แพทย์จำนวนมากในระบบราชการ ลาออกไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เพราะไม่สามารถทนกับระบบการทำงานที่หนัก ด้วยค่าตอบแทนที่จำกัดได้ รวมถึงมีการประกาศ “นัดหยุดงาน” ประท้วงนโยบายรัฐ ของทั้งแพทย์ และนักศึกษาแพทย์
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลโมร็อกโก ได้ประกาศ “ปฏิรูป” ระบบสุขภาพและสวัสดิการสังคมครั้งใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และสวัสดิการด้านต่าง ๆ เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา โดยจะเน้นด้านการพัฒนาระบบบริการให้มีคุณภาพ เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด เป็นอันดับแรก
นพ.อับเดอไลลาห์ บูทาเลบ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขโมร็อกโก และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.
“ในปี 2573 โมร็อกโก ตั้งเป้าไว้ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะครอบคลุมมากกว่า 93% ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าความร่วมมือที่เข้มแข็งร่วมกับไทย จะทำให้โมร็อกโก สามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น โดยไฮไลท์หนึ่งของการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ คือการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการที่ไทย จะถ่ายทอดความรู้ ให้กับโมร็อกโก เพื่อส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น” นพ.อับเดอไลลาห์ กล่าว
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโก พระมหากษัตริย์โมร็อกโก ทรงมีพระราชดำรัส ใจความว่า การ “ปฏิรูป” ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ควรที่จะเป็น “เสาหลัก” สำคัญ ในการปฏิรูประบบสุขภาพของโมร็อกโก ร่วมกับการที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโมร็อกโก เคยประกาศไว้ว่า จะบรรลุเป้าหมาย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ภายในปี 2573 หรือ UHC2030
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขโมร็อกโก ให้สัมภาษณ์ว่า การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากปัจจุบัน ทั้งประเทศโมร็อกโก มีสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิ ระดับเดียวกับสถานีอนามัยเพียง 2,878 แห่ง พร้อมทั้งยังเผชิญกับ 3 ปัญหาสำคัญ ได้แก่ 1.การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ยังทำได้ไม่ดีนัก 2.บุคลากรสาธารณสุขขาด “แรงจูงใจ” ในการทำงานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ห่างไกล และ 3.ภาคเอกชนเองก็ไม่สนใจในเรื่องการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิมากพอ ซึ่งขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขของโมร็อกโก อยู่ระหว่างการสร้างความร่วมมือ และสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้ภาคเอกชนลงทุนในระบบสุขภาพปฐมภูมิมากยิ่งขึ้น โดยระบบปฐมภูมิ จะเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะทำให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
“ในวันที่ 18 – 19 ธ.ค. นี้ องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ และรัฐบาลโมร็อกโก จะจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยได้เชิญตัวแทนจากประเทศไทยไปเล่าประสบการณ์ และแชร์ความรู้ ทั้งในเรื่องระบบบริหารจัดการกองทุน การจัดการการเงิน-การคลัง รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของโมร็อกโกต่อไป” นพ.อับเดอไลลาห์ ระบุ
ทั้งนี้การศึกษาดูงานดังกล่าวจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-4 ธ.ค.62 โดยวันที่ 2 ธ.ค. ดูงานที่ สปสช. วันที่ 3 ธ.ค. ลงพื้นที่ดูระบบบริการสาธารณสุข รพ.สามพราน จ.นครปฐม และวันที่ 4 ธ.ค. ดูงานที่กระทรวงสาธารณสุข สำหรับการศึกษาดูงานครั้งนี้ดำเนินการโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.
- 85 views