สสส.ร่วมถกบนเวทีนานาชาติ 51th APACPH ชี้มาตรการสร้างเสริมสุขภาพช่วยแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้าน WHO ชี้ไทยก้าวหน้าบรรลุเป้าหมาย SDGs พร้อมแนะลงทุนด้านสุขภาพให้ผลตอบแทนกลับสู่สังคมมหาศาล
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย บรรยายในเวทีหลักหัวข้อ “SDGs and Public Health: At Present” เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสาธารณสุข: ณ ปัจจุบัน ภายในการประชุมวิชาการสาธารณสุขนานาชาติ “51st APACPH conference : SDGs in Reality” จัดโดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 800 คน จากกว่า 20 ประเทศ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า เป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ถูกจัดเป็นหนึ่งใน 17 เป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (ข้อ 3) ขณะที่ภาพใหญ่ของ 17 เป้าหมาย SDGs เน้นพัฒนาความสมดุลระหว่างปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพประชาชน ซึ่งการสร้างเสริมสุขภาพร่วมสมัยได้มุ่งที่จะทำงานกับปัจจัยเหล่านี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น เป้าหมายขจัดความยากจน ขจัดความหิวโหย การศึกษาเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล การจ้างงานที่มีคุณค่า การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ฯลฯ
“พิสูจน์แล้วว่ามาตรการสร้างเสริมสุขภาพ ที่มุ่งแก้ไขปัจจัยกำหนดสุขภาพ มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนในวงกว้าง แล้วยังนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สมดุลทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผ่านยุทธศาสตร์สำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (health in all policies) สสส.ในฐานะองค์กรหลักที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ อีกนัยหนึ่งนับได้ว่า ได้ปฏิบัติภารกิจประสานภาคีที่มุ่งขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.แดเนียล เคอร์เทส
ด้าน ดร.แดเนียล เคอร์เทส ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในหลาย ๆ ส่วนเทียบกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางอื่น ๆ โดยยังคงมีบางประเด็นที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางควรจะเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้น อาทิ การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งประเทศไทยเป็นต้นแบบระดับโลก การมีระบบจัดการข้อมูลที่ดีเพื่อใช้กำกับติดตามผลอย่างมีประสิทธิภาพ และการดึงภาคส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากภาคสุขภาพให้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้มีผลพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการลงทุนในด้านสุขภาพให้ผลตอบแทนกลับสู่สังคมเป็นอย่างมาก สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDG ข้อ 3 ตลอดจนเป้าหมายข้ออื่น ๆ อีกด้วย
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงช่องว่างในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างโดยเฉพาะมิติด้านสุขภาพ ความท้าทายของคุณภาพความเท่าเทียมในระบบบริการสุขภาพ ปัญหาความยากจนของประชากรผู้สูงวัยที่กำลังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประชากรวัยอื่น ๆ รวมทั้งปัญหาผู้สูงวัยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่พบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขอเสนอให้มีการจัดทำแผนจัดการความเสี่ยง สร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ พร้อมกับมีระบบประเมินผลติดตามนโยบายนั้น ๆ ว่ายังตอบสนองถูกกลุ่มเป้าหมาย และที่สำคัญคือความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- 122 views