คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ชี้ผู้ประกันตนอายุยืนยาว เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้างานในระบบ กระทบเงินกองทุนบำนาญชราภาพหมดเร็ว จี้ สปส.ปฏิรูปภายใน ไม่ใช่ผลักภาระผู้ประกันตนจ่ายเงินเพิ่ม-ยืดอายุเกษียณรับเงิน
เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2562 นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงประเด็นข้อกังวลว่า กองทุนประกันสังคมกรณีบำนาญชราภาพประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท จะประสบปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน และจะหมดลงในอีก 15 ปีข้างหน้า ว่า จริงๆประเด็นนี้เป็นข้อกังวลมานานแล้ว เนื่องจากต้องยอมรับว่า ปัจจุบันคนทำงานที่เข้าระบบประกันสังคมน้อยลง เพราะเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่อยากเป็นลูกจ้าง หลายคนทำงานฟรีแลนซ์ หลายคนประกอบอาชีพส่วนตัว ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนชุดเดิมที่มีจำนวนมากก็ใกล้จะเกษียณอายุ 55 ปี ที่สำคัญตามระบบจะต้องจ่ายเงินบำนาญไปเรื่อยๆ ซึ่งคนเราไม่ใช่ว่าจะอายุสั้น คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 75 ปี ซึ่งแค่นี้ก็จ่ายเงินเป็นสิบๆ ปีแล้ว ดังนั้น หากไม่มีการปรับปรุงการบริหารเงินกองทุน แน่นอนว่าเงินหมดแน่นอน
“ประเด็นอยู่ที่ว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นปัญหานี้ดี และได้มีการวิจัยต่างๆจนพบว่า การจะให้กองทุนบำนาญชราภาพอยู่รอด ทำได้ 2 วิธี คือ 1.อาจต้องเพิ่มเงินสมทบของผู้ประกันตนมากขึ้น จำนวนเท่าไหร่ก็มีการคิดเป็นขั้นบันได และ 2. ยืดระยะเวลารับเงินบำนาญให้ยาวออกไปจาก 55 ปี ขยายไป 60 ปี ซึ่งกรณีนี้คนที่ใกล้จะเกษียณอยู่แล้ว อยู่ๆหากมาโดนยืดออกไปจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งกรณีนี้หากทำจริงก็ต้องสมัครใจ แต่สุดท้ายเรื่องก็ยังนิ่งอยู่ จนล่าสุดทาง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาพูดว่าสถานะของกองทุนดี ไม่มีทางล้ม เพียงแต่ก็ต้องมองอนาคตด้วยว่า ควรมีการปรับปรุงเพื่อให้กองทุนดีขึ้น ผมว่าเหมือนส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ แสดงว่าอาจมีความเป็นไปได้ในเรื่องเงินกองทุนบำนาญ” นายชาลี กล่าว
นายชาลี กล่าวอีกว่า การที่จะรับมือเพื่อให้กองทุนบำนาญอยู่รอดนั้น จริงๆ ไม่ควรผลักภาระให้ผู้ประกันตน แต่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ต้องบริหารจัดการภายในก่อน อย่างที่ผ่านมาพบว่า สปส.ใช้งบประมาณในการจัดทำปฏิทิน ซึ่งไม่จำเป็นเลย หรือการไปดูงานต่างประเทศก็ไม่รู้ว่าได้ผลลัพธ์อะไรกลับมา รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมบุคลากรที่ใกล้เกษียณของสำนักงานฯ ข้อมูลเหล่านี้ก็อยากถามทาง สปส.ว่า มีการใช้งบอย่างไร ดังนั้น สปส.ควรปฏิรูปโครงสร้างตนเองเสียที พวกตนเรียกร้องมานาน ก็อยากให้มีการปฏิรูป เพื่อจะได้เป็นองค์กรอิสระ มีบุคคลนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย และสามารถตรวจสอบได้
“ขณะนี้กำลังหารือกับทนายว่า หาก สปส.ยืนยันเดินหน้าเพื่อให้กองทุนมีเสถียรภาพ ด้วยการให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพิ่ม หรือขยายอายุรับเงินบำนาญ ก็คงต้องมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้” นายชาลี กล่าว
ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากรายงานคณิตศาสตร์ประกันภัยของสำนักงานประกันสังคมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานเมื่อปี 2015 สถานะของกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันยังมีความมั่นคง แต่ด้วยปัจจัยในอนาคตที่ต้องพบกับปัญหาผู้สูงอายุมากขึ้น แรงงานเข้าระบบประกันสังคมลดลง ในขณะเดียวกันมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์สูงขึ้น ปัจจัยเช่นนี้ส่งผลถึงสถานะของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวจริง แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เฝ้าติดตามตัวเลขปัจจัยที่มีผลกระทบกับสถานะของกองทุน โดยการดำเนินการแก้ปัญหานั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลา ความเหมาะสมกับสถานการณ์ ภาวะเศรษฐกิจ และต้องหาวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง ยั่งยืนยาวนาน
“ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมเองก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนมีความเชื่อมั่นในการบริหารกองทุนและการสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
- 120 views