ทีมแพทย์รพ.รามาธิบดี จับมือบริษัท เสนาฯ จัดค่ายกิจกรรมสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้ หลังพบอุบัติการณ์ทารก 7 พันคนต่อปีป่วย พร้อมชูเทคโนโลยีการผ่าตัดช่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น ย้ำยังไม่ทราบสาเหตุชัด อาจมาจากกรรมพันธุ์ หรือรับยาบางชนิด
เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ที่อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวโครงการ “ค่ายสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด ครั้งที่ 2” ภายใต้แนวคิด “Blooming the Blue Babies” หัวใจใสใส...ไม่สิ้นสุด เพื่อสร้างความตระหนักรู้และให้คำแนะนำดูแลโรคหัวใจแต่กำเนิด เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดี โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร่วมทางฝัน ที่ก่อตั้งโดย บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
ศ. พญ. อลิสา ลิ้มสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการคลอดประมาณ 700,000 ทารกแรกเกิดต่อปี โดยพบว่า ทารกแรกคลอด 1% หรือประมาณ 7,000 รายต่อปี จะมีความผิดปกติที่โครงสร้างหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยหนึ่งในสี่ของกลุ่มที่มีโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้นจะต้องการการผ่าตัดหรือการรักษาด้วยการสวนหัวใจ ทั้งนี้ โรคหัวใจแต่กำเนิด แบ่งอย่างง่าย ๆ เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีภาวะหัวใจเขียว กับ กลุ่มโรคหัวใจไม่เขียว ซึ่งกลุ่มโรคหัวใจชนิดเขียว มักจะเป็นโรคหัวใจที่สลับซับซ้อนกว่ากลุ่มที่ไม่เขียว มักต้องการการรักษาด้วยการให้ยาผ่าตัดหรือสวนหัวใจในวัยเด็กและคนไข้ส่วนหนึ่งต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจจะมีการผ่าตัดหลายครั้ง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน อาจมาจากกรรมพันธุ์ การรับยาบางชนิด ส่วนเรื่องแม่อายุมากนั้น ก็พบว่าในแม่อายุมากที่คลอดทารกออกมาแล้วมีอาการดาวน์ซินโดรม พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดประมาณ 50 % อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวจะทราบก็ต่อเมื่อมีการอัลตราซาวน์ระหว่างทารกอยู่ในครรภ์ ช่วงอายุครรภ์ 17-20 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อทราบแพทย์จะแจ้งทางครอบครัวว่า ต้องการยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ ดังนั้น จะมีการวางแผนในการรักษาต่อไป ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดรักษามีความก้าวหน้ามาก สามารถทำให้เด็กทารกเติบโตและทำงานเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จากอดีตจะพบว่ามีอายุขัยเฉลี่ยไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น
ศ.พญ. อลิสา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ แต่ครอบคลุมไม่หมด เนื่องจากค่ารักษาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 140,000-150,000 บาท แต่สามารถเบิกได้จริงประมาณ 100,000 บาท ทางรพ. ต้องหาเงินจากมูลนิธิอื่นๆ มาช่วยในการสนับสนุนการผ่าตัดรักษา โดยครั้งนี้ได้มีการจับมือร่วมกับ มูลนิธิร่วมทางฝัน ของ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จัดค่ายกิจกรรมสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิดขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ครอบครัว เกี่ยวกับภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และการปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะมีการเปิดอบรมผู้ปกครองในวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ที่อาคารเรียนรวมและปฎิบัติการทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี
ผศ.นพ.สุเทพ วาณิชย์กุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษามีความก้าวหน้ามาก หลายคนเข้าถึงการรักษา แต่ปัญหาพบว่า โรคดังกล่าวมักเกิดในครอบครัวฐานะยากจน จึงจำเป็นต้องอาศัยหลายภาคส่วนช่วยเหลือผ่านทางมูลนิธิ หรือหน่วยงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ปัจจุบันแพทย์โรคหัวใจทั่วประเทศไม่ได้มีจำนวนมากนัก อย่างแพทย์โรคหัวใจทั่วไปจะพบประมาณ 100 คน ส่วนแพทย์ที่สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กมีเพียง 20 คนเท่านั้น
รศ.นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การรักษาเด็กป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จะแบ่งเป็นอาการเขียว คือ ซับซ้อน กับอาการไม่เขียว คือ ไม่ซับซ้อน ซึ่งหากไม่ซับซ้อน ผ่าตัดครั้งเดียวก็จบ แต่หากอาการซับซ้อนหรือที่เรียกว่า อาการหัวใจเขียว ก็ต้องมีการผ่าตัดซับซ้อนมากขึ้น อย่างตอนแรกจะเริ่มจากการผ่าตัดแบบประคับประคอง จนเด็กเริ่มโตขึ้นอายุประมาณ 3-5 ปี หรือมีน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ก็จะผ่าตัดครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทาง รพ.รามาฯ สามารถผ่าตัดหัวใจได้ทั้งสี่ลิ้นหัวใจ หรือสามารถผ่าตัดได้แบบลูกผสม ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็จะขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย
ผศ. ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับค่ายกิจกรรมสำหรับเด็กโรคหัวใจแต่กำเนิด เป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ที่เสนานำกำไรจากการขายโครงการบ้านร่วมทางฝัน 3 จำนวน 40 ล้านบาท มอบให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสนับสนุนโครงการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดอย่างครอบคลุม ตั้งแต่โครงการสนับสนุนแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ฝึกหัดเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติที่จัดในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความรู้ความสามารถในการคัดกรอง การวินิจฉัยโรคหัวใจแต่กำเนิดตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา การทำหัตถการรักษาโรคหัวใจแต่กำเนิดโดยการสวนหัวใจ เพื่อลดจำนวนการผ่าตัดหัวใจลง รวมไปถึง โครงการลิ้นหัวใจเทียม (Melody Valve) และ โครงการขยายหลอดเลือดตีบ และการจัดค่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด (Congenital Cardiac Care Camp ) ที่มุ่งหวังให้ความรู้พื้นฐานผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจที่เป็น และการปฏิบัติตัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ ไปโรงเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ได้ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นด้วย
- 760 views