อบจ.สตูล ทำสำเร็จ ประกาศท่าเรือปากบาราปลอดบุหรี่ เตรียมขยายผลท่าเรือท่องเที่ยวอื่น
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ร่วมกับเครือข่ายศูนย์ข่าวปลอดควันจังหวัดสตูล มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา อปท.ปลอดบุหรี่ “ความสำเร็จในการทำท่าเรือปากบาราปลอดบุหรี่” ณ ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กำหนดให้พื้นที่ปฏิบัติภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด โดยได้ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล และกลุ่มสื่ออันดามันจังหวัดสตูล จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือดำเนินการให้พื้นที่ปฏิบัติภารกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 แล้วนั้น
โดยมีเงื่อนไขว่า อบจ.สตูล ต้องจัดพื้นที่ปฏิบัติภารกิจภายใต้การดูแลรับผิดชอบของ อบจ.สตูล เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด เช่น สำนักงานฯ ท่าเทียบเรือปากบารา สนามกีฬา อบจ.สตูล ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศการท่องเที่ยว อบจ.สตูล ซึ่งได้ดำเนินการประสบความสำเร็จดียิ่ง เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ต้นแบบ
ในโอกาสนี้ จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และรณรงค์เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดจัดโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้านสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2562 เน้นกิจกรรม อปท.ปลอดบุหรี่ เพื่ออบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ให้ทุกหน่วยงาน องค์กรในจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่เขตปลอดบุหรี่ และเพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนที่เข้ามารับบริการในสถานที่ หน่วยงาน องค์กรในจังหวัดสตูล
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคยาสูบของคนไทย พ.ศ.2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งวิเคราะห์โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน แต่ละปีคนไทยตายจากบุหรี่ 54,512 คน แต่ละคนตายเร็วขึ้น 18 ปี โดยเฉลี่ย ป่วยจนสูญเสียคุณภาพชีวิต 3 ปีก่อนตาย ในส่วนของภาคใต้มีผู้สูบบุหรี่ 1.93 ล้านคน อัตราการสูบร้อยละ 24.5 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่มีอัตราเท่ากับ 19.1%
เฉพาะจังหวัดสตูล อัตราการสูบบุหรี่สูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากกระบี่และนครศรีธรรมราช และมีอัตราการสูบบุหรี่ในบ้านสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศเช่นกัน และการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จะยังคงเพิ่มขึ้น แม้อัตราการสูบบุหรี่จะลดลง โดยร้อยละ 90 ของคนไทยที่สูบบุหรี่ อาศัยอยู่นอกเขตเมือง และร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในเขตชนบท แต่ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดูแลเรื่องยาสูบอย่างจริงจัง อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำของปัญหาการสูบบุหรี่ระหว่างภูมิภาค ดังนั้น จึงขอแรงสนับสนุนจาก อปท.ทุกแห่งร่วมกันสร้างสถานที่ปลอดควันบุหรี่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
นางสาวทัศนีย์ ศิลปบุตร คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของการควบคุมยาสูบของไทย ปัจจุบันมีการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดกฎหมายหลายฉบับที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ แต่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 สำรวจพบว่า ยังคงมีการพบเห็นการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ตลาดสดหรือตลาดนัด (ร้อยละ 61.81) 2) ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 37.7) 3) สถานีขนส่ง (ร้อยละ 25.5) 4) ศาสนสถาน (ร้อยละ 23.1) 5) อาคารสถานที่ราชการ (ร้อยละ 11.4)
“ขอชื่นชม อบจ.สตูล และภาคีเครือข่ายที่ผลักดันให้เกิดการประกาศท่าเทียบเรือปากบาราปลอดบุหรี่ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สะท้อนถึงการเชื่อมประสานการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนให้เกิดเขตปลอดบุหรี่ในที่สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญยังเป็นการปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การขยายผลให้เห็นเป็นรูปธรรมการทำงานเพื่อการควบคุมยาสูบในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป” นางสาวทัศนีย์ กล่าว
- 29 views