เครือข่ายลดอุบัติเหตุ วอนรัฐสร้างความเชื่อมั่นลดตายบนถนนอย่างจริงจัง ชี้กรณีตำรวจขับรถเสียหลักพุ่งชนรถพยาบาล แต่ไม่ยอมให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ เรียกร้องตำรวจทำคดีตรงไปตรงมา ให้ความเป็นธรรมผู้เสียหายและครอบครัว
จากกรณีอุบัติทางถนนที่ ร.ต.อ.เดชา เปรียบสม รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ขับรถกระบะไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เสียหลักข้ามเลนพุ่งชนรถพยาบาล รพ.ประโคนชัย บนถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย ต.บ้านไทร อ.ประโคนชัย จนส่งผลให้ น.ส.สุดารัตน์ เชื่อมาก อายุ 25 ปี พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต.เขาคอก ที่นั่งดูแลหญิงตั้งครรภ์ภายในรถเสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บสาหัส รวม 4 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ต.ค.61 ที่ผ่านมา โดยตำรวจคู่กรณีไม่ยอมตรวจวัดแอลกอฮอล์ในวันเกิดเหตุ
และล่าสุดพนักงานสอบสวนจากตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แจ้ง 3 ข้อหา คือ 1.ขับรถไม่สวมแผ่นป้ายทะเบียน 2.ขับรถประมาทให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 3. ขับรถขณะมึนเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เบื้องต้น ร.ต.อ.รับสารภาพ 2 ข้อหา แต่ปฏิเสธข้อหาเมาแล้วขับ ซึ่งทำให้ญาติและผู้เกี่ยวข้อง มีความวิตกกังวล โดยเฉพาะการที่ไม่ยอมให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ อาจจะเป็นหลักฐานที่ศาลเชื่อได้ว่าเมาสุรานั้น
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ในฐานะที่ตนเองทำงานด้านการป้องกันและลดอุบัติทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีต้องทำอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวและผู้เสียชีวิต ไม่ละเว้นเพิกเฉยประวิงเวลา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนทำงานแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและคนทำงานแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศที่พยายามผลักดันกฎหมายและมาตรการต่างๆ ออกมาบังคับใช้เพื่อช่วยกำกับและดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับประชาชนและผู้ขับขี่ เพราะการที่ไม่ตรวจวัดแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุทันทีแต่มาเป่าวัดหลังจากนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าน่าจะเป็นการช่วยเหลือกัน ซึ่งทำให้มีเกิดความกังวลและมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อมากมาย
จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสื่อต้องช่วยเกาะติดรายงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าคดีจะได้ข้อยุติ ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากคนเมาแล้วขับมีเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้สถิติเสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากขึ้นตามไปด้วย โดยมีรายงานสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กว่า 24,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้ กว่า 60% มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่ากฎหมายกำหนด
“ขอเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะดำเนินงานตามนโยบายอย่างจริงจัง เพราะอุบัติเหตุทางถนนทำให้ต้องสูญเสียบุคลากรที่สำคัญ คนในครอบครัวอันเป็นที่รัก ที่ไม่สามารถเรียกร้องกลับมาได้อีก หากยังไม่การแก้ไขอย่างจริงจังเสียที” นายพรหมมินทร์ กล่าว
- 5 views