สสส.เดินหน้าสร้างราชบุรีโมเดล หนุนเครือข่าย ขยาย-พัฒนาระบบเมืองแห่งสุขภาวะ หลังทำงานบูรณาการสุขภาพควบคุมเหล้า-บุหรี่เห็นผลในพื้นที่นำร่อง อำเภอโพธาราม มีชื่อเสียงผงาดระดับประเทศ พร้อมผลักดันต่อยอดอีก 104 ตำบล
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
เมื่อวันที่ 8 กันยนยน 2561 ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่1สสส. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ รพ.สต.ดอนทราย อ.โพธาราม และต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จังหวัดราชบุรี เพื่อศึกษาดูงานและติดตามความคืบหน้าการรณรงค์ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ โดยมีการชูแนวคิด “ราชบุรีสุดเจ๋ง ต้นแบบเลิกเหล้า-เลิกบุหรี่” ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สาธิตเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ ระบบการบันทึกข้อมูลผู้เลิกบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่าง อสม. รพ.สต.ดีเด่นชวนเลิกบุหรี่ ครอบครัวปลอดเหล้า คนหัวใจหิน คนหัวใจเพชร และชุมชนต้นแบบ กลุ่มเยาวชนนักรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีได้ประกาศเป็นเมืองขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะ ซึ่งเป็นจังหวัดต้นแบบของเมืองสุขภาวะ ที่ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ภาคีเครือข่ายชุมชน มีเป้าหมายที่จะยกระดับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนพื้นที่ให้ดีขึ้น ป้องกันโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ การบริการสุขภาพด้านต่างๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการทำงานแบบบองค์รวม และมุ่งเน้นที่จะสร้างตำบลต้นแบบสุขภาวะ ต่อยอดมาเป็นอำเภอต้นแบบสุขภาวะ มีเป้าหมายขับเคลื่อนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา ทั้งนี้มีพื้นที่นำร่อง 8 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โพธาราม อ.จอมบึง และ อ.วัดเพลง คาดว่าจะขยายไปให้ได้ 104 ตำบล เน้นการสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม อสม.และชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม สร้างกลไกสนับสนุนส่งเสริมเครือข่ายให้ทำงานร่วมกันสู่การเป็นเมืองสุขภาวะอย่างยั่งยืนและสามารถเป็นต้นแบบ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในอนาคต
“จากผลสำรวจความคิดชาวราชบุรี กว่า1,000 คน เมื่อปี 2558 พบว่า ร้อยละ 93.27 เห็นด้วยกับการทำให้ราชบุรีเป็นเมืองคนสุขภาพดี ชีวิตดี และตำบลดอนทราย ถือเป็นตัวอย่างของตำบลสุขภาวะที่ประสบความสำเร็จในด้านลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามโครงการ 3 ล้าน 3 ปี ลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า คนไทยสมัครใจเลิกบุหรี่ได้มากถึง 1.1 ล้านคน และมีผู้เลิกบุหรี่ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป 1.3 แสนคนและอีกหนึ่งความสำเร็จของตำบลดอนทราย จังหวัดราชบุรีแห่งนี้ เกิดจากความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่บุคลากรด้านสาธารณสุข รวมทั้ง อสม.ที่ให้ความสำคัญและหากลยุทธ์ชวนประชาชนในพื้นที่เลิกบุหรี่ได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ต้องชื่นชมภาคีเครือข่ายที่เข้าใจเรื่องสุขภาวะ เชื่อมโยงการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ และการลงพื้นที่ราชบุรีครั้งนี้ มุ่งเน้นให้เกิดกิจกรรมที่จะนำไปสู่การบูรณาการเชิงระบบ สร้างกลไกการทำงานระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการทำงาน คือ การลดลงของทั้งผู้สูบบุหรี่ ผู้ดื่มสุรา คาดว่าจะมีพื้นที่ดำเนินงานในชุมชนเพิ่มขึ้น มีบริการเพื่อช่วยเหลือ และพัฒนาให้เป็นกลไกของพื้นที่ เชื่อมต่อกับระบบสุขภาพอำเภอต่างๆ"ดร.สุปรีดา ระบุ
รศ.ธราดล เก่งการพานิช รองหัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการพัฒนาแกนนำหนุนเสริมโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน กล่าวว่า ตำบลดอนทรายเป็นตัวอย่างของตำบลที่ประสบความสำเร็จชวนประชาชนเลิกบุหรี่ในโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทยฯ ที่มีปะชาชนเข้าร่วมได้มากถึง 2,738 คน และในจำนวนนี้สามารถเลิกสูบบุหรี่ตลอดไป ถึง 200 กว่าคน และในปีนี้สามารถชวนประชาชนเลิกบุหรี่ได้ถึง 50 คน จากการทำงาน พบว่า ถ้าคนที่มีความตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่อยู่แล้วจะประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 30 ปัจจัยความสำเร็จของตำบลดอนทราย คือ ความเข้มแข็งของเจ้าหน้าที่และ อสม.ที่ให้ความสำคัญของเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ประกอบกับการใช้ศาสตร์แพทย์แผนจีนในการนวดกดจุดช่วยคนอยากเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งไม่ได้ยุ่งยาก เป็นการนวดที่ใครๆก็ทำได้ แม้แต่ตัวเองก็สามารถนวดได้ สำหรับการนวดกดจุดทำได้ทุกวันๆ ละประมาณ3 นาที เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 10 วัน หรือบางคนอาจจะใช้เวลาน้อยกว่านี้
“ผลจากการใช้สมุนไพรและนวดกดจุด พบว่า คนที่นวดกดจุดไปแล้ว จะรู้สึกว่าบุหรี่ที่สูบมีรสชาติไม่อร่อยตามภาษาของคนที่สูบประจำ หรือบางคนจะบอกว่า รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป จึงทำให้เขาเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งแนวโน้มการลดละเลิกบุหรี่ที่ดีนี้ คาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทำให้ประเทศไทยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้ ตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติ และตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด” รศ.ธราดล กล่าว
ด้าน นายบุญส่ง ใจชื่น ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาคมงดเหล้าจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จังหวัดราชบุรีได้รณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ปี2549 ผลสำเร็จของการดำเนินงาน คือความร่วมมือ จาก สสส. ภาครัฐและเอกชน ที่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเป็นปัญหาของตัวเองที่ต้องร่วมมือร่วมใจ ระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา มุ่งเน้นไปที่ชุมชน เช่น ตำบลทุ่งหลวง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่ประสบความสำเร็จได้ เพราะมีแกนนำ อสม.เป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้และพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเรื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นตัวขับเคลื่อนในการทำงาน ส่วนในโรงเรียนมีการสร้างกระบวนการเรียนการสอนชั้นมัธยมประถมศึกษาและประถมวัยทำให้เรามีแกนนำที่เป็นนักเรียนที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวพิษภัยของแอลกอฮอล์ไปยังกลุ่มเพื่อนๆได้ ส่วนเด็กเล็กจะเรียนรู้ผ่านทางกิจกรรมร้องเพลง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สามารถสกัดนักดื่มหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 60
“ส่วนกลุ่มเยาวชนนอกระบบ คือกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือ กลุ่มนี้จะเข้าถึงได้ยาก จะต้องอาศัยชุมชนเข้าช่วย นอกจากนี้ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 8 กลุ่มชาติพันธุ์ มีประเพณี ความเชื่อที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อแกนนำได้กระบวนการเรียนรู้ต่างๆถึงอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้นั้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ได้เช่นกัน”นายบุญส่ง กล่าว
นายบุญส่ง กล่าวว่า ผลของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของปัญหา และจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาของพื้นที่ จังหวัดราชบุรีโชคดีที่ท่านผู้ว่าฯ สสจ. นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รวมทั้งภาคเอกชนและมูลนิธิต่างๆเห็นความสำคัญของปัญหาส่งผลให้การดำเนินงานของพื้นที่และเครือข่ายประสบความสำเร็จ
- 154 views