รมว.แรงงาน พอใจผลการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคมปี 2560 ที่ยอดผลตอบแทนพุ่งกว่า 58,000 ล้านบาท ด้าน สปส.ยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อการลงทุน โดยนำเงินกองทุนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินลงทุนจัดตั้งเป็นกองทุนนิติบุคคลตามหลักสากล แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของ สปส.เพื่อบริหารการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 ณ สำนักงานประกันสังคม พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมสำนักงานประกันสังคมและมอบนโยบายการดำเนินงาน 7 ข้อ ดังนี้

1.ผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงหลักประกันสังคมอย่างทั่วถึง

2.การสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้เข้าใจสิทธิประโยชน์ของการประกันสังคมรวมทั้งปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และคืนสิทธิให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้กลับสู่ระบบประกันสังคม

3.ยกระดับสายด่วน 1506 ให้เป็นสายด่วนกระทรวงแรงงาน

4.พัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูง ทันสมัย คล่องตัว โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล

5.การจัดทำฐานข้อมูล Big Data เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ขอให้เชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด

6.จัดสวัสดิการสำหรับบุคลากรในองค์กรในเรื่องสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่

7.ในการบริหารการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน ขอให้สำนักงานประกันสังคมเตรียมการ และจัดทำแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ให้มีความสมดุลระหว่างอัตราผลตอบแทน และระดับความเสี่ยง โดยการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล และมุ่งเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของกองทุนเป็นหลักการสำคัญ

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อว่า ผลการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในปี 2560 ที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 สำนักงานประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวน 1,762,095 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล จำนวน 1.24 ล้านล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 524,347 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงร้อยละ 78 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 22

ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ 40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนด

นอกจากนี้ได้มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนจากตราสารหนี้ไทยไปยังตราสารต่างประเทศ ทำให้เงินลงทุนในตราสารต่างประเทศจากร้อยละ 3 เมื่อต้นปี เพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 9 ณ สิ้นปี 2560 และในปีที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมได้ประมาณ 58,000 ล้านบาท โดยคำนวณผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 5.07 และมีผลตอบแทนตามมูลค่าตลาดเท่ากับร้อยละ 6.01 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่มีอัตราร้อยละ 0.67 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.37

สำหรับกองทุนเงินทดแทน ปัจจุบันมีเงินลงทุน 55,775 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบจากนายจ้าง 38,214 ล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 17,561 ล้านบาท เงินลงทุนแบ่งออกเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงร้อยละ 75 หลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 25 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ทั้งนี้กองทุนเงินทดแทนสามารถสร้างผลตอบแทนในปี 2560 อยู่ประมาณ 1,886 ล้านบาท มีผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐเท่ากับร้อยละ 4.80 และมีผลตอบแทนตามมูลค่าตลาดเท่ากับร้อยละ 5.68 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเฉลี่ย

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ เพื่อนำผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไปพัฒนาดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันยังจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

ด้าน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงผลการดำเนินงาน 27 ปีที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคม ว่า สามารถบริหารกองทุนให้มีผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามกองทุนยังต้องเผชิญความท้าทายทั้งภายใน และภายนอก ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างผลตอบแทนและรักษาความมั่นคงให้กองทุนในอนาคต อีกทั้งความท้าทายภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้กองทุนแนวโน้มที่จะมีภาระจ่ายเพิ่มขึ้น และความท้าทายภายใน เช่น การบริหารการลงทุนภายใต้ระบบราชการที่มีขั้นตอนและกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับการบริหารการลงทุน การสรรหาบุคลากรมืออาชีพด้านการลงทุนไม่คล่องตัวและไม่จูงใจ ทำให้สูญเสียโอกาสการลงทุน

ดังนั้นเพื่อเพิ่มความคล่องตัว ความโปร่งใส และบริหารงานโดยมืออาชีพ สำนักงานประกันสังคมจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อการลงทุน โดยนำเงินกองทุนเฉพาะส่วนที่เป็นเงินลงทุนจัดตั้งเป็นกองทุนนิติบุคคลตามหลักสากล แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการทั้ง 2 กองทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงแรงงาน

เลขาธิการ สปส. กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมพร้อมบริหารการลงทุนในปี 2561 เพื่อสร้างผลตอบแทนสะสมสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินงาน “ลงทุนอย่างโปร่งใส ใส่ใจ สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน” อีกทั้งมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะพัฒนาการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างเสถียรภาพของกองทุนรองรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป