New England Journal of Medicine ฉบับล่าสุด 21 ธันวาคม 2560 รายงานว่า คนอายุ 60-69 ปี ราวครึ่งหนึ่งจะมีภาวะนี้ ในขณะที่คนอายุเกิน 85 ปี จะมีภาวะนี้ถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน การทำงาน ฯลฯ
สำหรับโอกาสเกิดภาวะนี้นั้น พบว่าอายุมากขึ้น 10 ปีจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า คนที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินนี้จะมีโอกาสเจ็บป่วยจนต้องนอนรักษาตัวใน รพ.สูงกว่าคนที่ยังมีความสามารถในการได้ยินปกติ
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึมเศร้า สมองเสื่อม และมีอัตราเสียชีวิตที่สูงกว่าอีกด้วย
ในภาพรวมระดับโลก ปัญหานี้เป็นอันดับ 4 ของภาวะพิการ ภาวะสูญเสียการได้ยินนี้เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การอุดตัน การสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานาน ยา พันธุกรรม โรคประจำตัวเรื้อรังต่างๆ ตลอดจนการเสื่อมตามอายุ
ในคนสูงอายุ มักเกิดจากหลายเรื่องที่พบบ่อย อันได้แก่ ยาที่ใช้ การสัมผัสเสียงดัง และเสื่อมตามอายุ หากเสื่อมตามอายุ มักเป็นทั้ง 2 ข้าง มักมีปัญหาในการสื่อสารทำให้ไม่ได้ยินและไม่เข้าใจ มักเกิดกับช่วงเสียงที่มีความถี่สูงตั้งแต่ 2,000 เฮิร์ซขึ้นไป
ในอเมริกาเคยมีการสำรวจพบว่าคนวัยผู้ใหญ่ราวร้อยละ 25 มีปัญหาสูญเสียการได้ยินที่สามารถตรวจพบได้ และมักเกิดจากการสัมผัสเสียงดังเกินไป ที่น่าสนใจคือ แม้คนที่ประเมินตนเองว่าภาวะการได้ยินปกติ ราวร้อยละ 20 ก็ตรวจพบภาวะสูญเสียการได้ยินได้บ้างเช่นกัน
ถามว่าดังแค่ไหนที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้? ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานในโรงงานหรือที่เจอเสียงดังๆ เช่น ทหาร ฯลฯ ตามที่เข้าใจกัน แต่ยังหมายรวมถึงคอนเสิร์ต โรงหนัง ฟิตเนสที่เปิดเพลงดัง หรือการเปิดเพลงฟังเองก็ทำให้เกิดภาวะนี้ได้ หากเสียงดังเกินไปจะทำลายเซลล์ในระบบหู อาจเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวร หากสูญเสียการได้ยินไปเกิน 2 สัปดาห์แล้วไม่หายดีมักจะมีโอกาสกลายเป็นการสูญเสียแบบถาวร แต่จะเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลาตั้งแต่หลายสัปดาห์จนเป็นปีได้
เรื่องยานั้น มักพบภาวะนี้ในผู้ป่วยที่ใช้ยา Aminoglycosides ได้ราวร้อยละ 20 กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้ยา Cisplatin พบได้ราวร้อยละ 60-65 โดยขึ้นกับขนาดยาสะสมที่ได้รับและปัจจัยอื่นๆ คนที่อ้วน เป็นโรคเบาหวาน หรือสูบบุหรี่ ก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน
แม้ปัจจุบันจะอธิบายเหตุผลเกี่ยวกับกระบวนการเกิดพยาธิสภาพได้ยังไม่ชัดเจนก็ตาม แต่งานวิจัยด้านระบาดวิทยาล้วนยืนยันว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงสูง
อ่านแล้วก็ควรระมัดระวังการใช้ชีวิต และบอกกล่าวเล่าแจ้งให้แก่คนใกล้ชิดนะครับ
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 83 views