ผลสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย พบอยู่ในระดับไม่ดีพอเกือบ 60% พอใช้ 39% และดีมากเพียง 1.6% เทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพดีถึง 70% ระบุ ประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอมักมีความรู้ด้านสุขภาพที่จำกัด มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและใช้บริการรักษาพยาบาลโดยไม่จำเป็น เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2561 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชน ว่า จากการศึกษาวิจัยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอมักมีความรู้ด้านสุขภาพที่จำกัด มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการใช้บริการรักษาพยาบาลโดยไม่จำเป็นในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่เพียงพอ
จากการสำรวจของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2557 พบว่า ระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย ในกลุ่มอายุ 7 – 18 ปี อยู่ในระดับพอใช้ร้อยละ 86.48 และระดับดีมาก ร้อยละ 5.25 หรือระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนไทย เรื่อง 3 อ 2 ส ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ในระดับไม่ดีพอ ร้อยละ 59.4 พอใช้ ร้อยละ 39.0 และระดับดีมากเพียง ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ ประเทศสิงคโปร์มีสัดส่วนประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับดีถึงร้อยละ 76 หรือในแถบยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ มีสัดส่วนประชากรที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับดีถึงร้อยละ 70
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า การพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพและยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน ถือเป็นการวางรางฐานที่สำคัญให้กับคนไทยทุกคนเพื่อการมีสุขภาพที่ดีสมวัยในทุกช่วงชีวิตดังนั้นความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) จึงเป็นตัวช่วยให้ประชาชนไทยรู้เท่าทันสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพของตนเองด้วยการกลั่นกรอง ประเมิน และตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสมโดยอาศัยความรู้ ข้อมูลสุขภาพ และบริการสุขภาพ จากหลายช่องทางจนสามารถจัดการสุขภาพด้วยตนเองได้ (Self-Management)
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชน ระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างภาคสาธารณสุขและภาคการศึกษาในการพัฒนาบุคลากร ทั้งกลุ่มผู้บริหารกลุ่มวิชาชีพและบุคลากรระดับปฏิบัติการ ที่ใกล้ชิดกับประชาชนในระดับชุมชน เช่น
กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.)ผู้นำชุมชน และกลุ่มคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)ในการพัฒนาชุมชนและองค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ศูนย์พัฒนาและรับรององค์กรรอบรู้ด้านสุขภาพ ( HLO Development and Accreditation Center) และเครื่องมือสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับประชาชนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป โดยอาศัยความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดขึ้น นำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของทั้งสององค์กร และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างสมบูรณ์ต่อไป
- 89 views