จังหวัดอุทัยธานีต้นแบบงาน “กองทุน LTC” 2 ปี ดึงท้องถิ่นร่วมจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเกือบครอบคลุมทั้งจังหวัด มี อบต.ร่วมจัดตั้งกองทุน LTC แล้ว 60 แห่ง จาก 62 แห่ง อีก 2 แห่งเตรียมร่วมจัดตั้งกองทุนเพิ่มเติม ชี้ปัจจัยสำเร็จเกิดจากความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ใช้กลไก คณะทำงานขับเคลื่อนด้วยใจถึงใจเป็นพี่เลี้ยงหนุนท้องถิ่นเดินหน้า
ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต
นายวันชัย แข็งการเขตร สาธารณสุขอำเภอเมืองอุทัยธานี ที่ปรึกษาคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน จ.อุทัยธานี กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดอุทัยธานีได้เข้าร่วมดำเนินงานบริหารจัดการการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบันมี อปท.ในอุทัยธานีเข้าร่วม 60 แห่ง จาก 62 แห่ง สำหรับ อปท.ที่เหลืออีก 2 แห่ง เตรียมที่จะเข้าร่วมเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้อุทัยธานีเป็นจังหวัดแรกของประเทศที่ อปท.เข้าร่วมดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงครบทุกแห่ง
สาธารณสุขอำเภอเมืองอุทัยธานี กล่าวต่อว่า ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจาก อปท.ในอุทัยธานีมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ นอกจากการสนับสนุนโดย สปสช.ที่ได้จัดสรรงบภายใต้กองทุน LTC จำนวน 5,000 บาท/ราย/ปี ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดแล้ว อปท.ในอุทัยธานียังได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน จ.อุทัยธานีเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนกองทุน LTC ขึ้นมาคณะหนึ่ง
ด้าน นางสาวทยากร ทองคำดี ปลัด อบต.ดงขวาง เลขานุการคณะทำงานพี่เลี้ยงกองทุน จ.อุทัยธานี กล่าวว่า ในยุคเริ่มต้นของการทำงาน LTC จ.อุทัยธานี มีรูปแบบการดำเนินงาน LTC ให้ศึกษาน้อยมาก เนื่องจากมี อปท.ที่ทำในเรื่องนี้ไม่มาก ทำให้ อปท.และผู้จัดการการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager: CM) ในอุทัยธานีต่างมีความกังวลและไม่กล้าขับเคลื่อนงาน LTC ทำให้ผู้สูงอายุที่พึ่งพิงต้องเสียโอกาสที่จะได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบที่ดี คณะทำงานฯ จึงได้ร่วมปรึกษาหารือและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค อาทิ การจัดทำแบบฟอร์มธุรการเพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน นอกจากนี้ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วย การจัด “เวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้สนใจและดำเนินงานกองทุน LTC” โดยแต่ละ อปท.ต่างหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพเพื่อมุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ สิ่งใดที่เป็นข้อสงสัยก็ซักถามกันในเวทีโดยมี สปสช.เป็นที่ปรึกษาสนับสนุนความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นทาง Online จนเกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุน LTC อย่างจริงจัง
นางสาวทยากร กล่าวต่อว่า การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานกองทุน LTC เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ อบต.ดงขวาง ต่อมามีการสลับสับเปลี่ยนการจัดเวทีไปยังพื้นที่ต่างๆ อีกหลายครั้งรวมทั้งได้มีการจัดอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver: CG) จากความร่วมมือร่วมใจนี้ยังได้เกิด “กองทุนบุญ CG และ CM” เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ สปสช.ได้รับมอบจากรัฐบาลเพื่อดำเนินการเชิงรุกจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่บ้านและชุมชน ร่วมกับ อปท. ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 จำนวน 600 ล้านบาท เป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 และปี 2561 เพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาท โดย สปสช.เน้นทำงานร่วมกับ อปท.และหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดอุทัยธานีถือเป็นต้นแบบหนึ่งในการขับเคลื่อนกองทุน LTC ที่ประสบความสำเร็จ มีการดำเนินงานผ่านกลไกคณะทำงานเพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุน LTC ได้อย่างมีประสิทธิผล จึงนับเป็นแบบอย่างการดำเนินงานเพื่อขยายไปจังหวัดอื่นต่อไป
- 147 views